เชียงใหม่ - นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญไส้เดือนดินชี้กินได้ ให้โปรตีนสูงและตำราจีนมีการนำไปใช้ทำยาบำรุง อย่างไรก็ตามเน้นย้ำต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดและปรุงถูกสุขอนามัย ย้ำเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ ใช้ย่อยสลายกำจัดขยะอินทรีย์ ได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาและวิจัยไส้เดือนดิน แสดงความเห็นกรณีที่ยูทูบเบอร์รายหนึ่งเผยแพร่คลิปการรับประทานไส้เดือนดิบๆ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การรับประทานไส้เดือนมีมานานแล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการนำมารับประทานด้วยการย่างไฟ เชื่อว่าเป็นยารักษาโรคบางอย่าง เช่นเดียวกับในประเทศจีนที่มีการนำไส้เดือนใช้เป็นส่วนผสมในยาบำรุงตามตำรายาโบราณ และมีการนำเข้าไส้เดือนที่ผ่านกระบวนการทำความสะอาดและตากแห้งแล้วจากประเทศไทยปีละเป็นจำนวนมาก และคิดเป็นมูลค่าสูงมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐระบุว่า การนำไส้เดือนมารับประทานมีทั้งประโยชน์และโทษ โดยในส่วนของประโยชน์นั้นต้องยอมรับว่าไส้เดือนมีโปรตีนสูง อย่างไรก็ตามในส่วนของโทษนั้น เนื่องจากในลำไส้ของไส้เดือนจะมีจุลินทรีย์อยู่มากถึงประมาณ 500 ชนิดเพื่อใช้ในกระบวนการย่อยสลาย ซึ่งเมื่อมีผู้รับประทานไส้เดือนไปแล้วบางคนอาจจะเกิดผลเสียต่อร่างกายเนื่องจากไม่มีภูมิต้านทาน ขณะที่บางคนอาจจะมีภูมิต้านทานจึงไม่เกิดผลใดๆ แต่ในระยะยาวก็ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ ดังนั้น การจะนำมารับประทานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดและปรุงอย่างถูกสุขอนามัย อีกทั้งการจะเลือกรับประทานควรต้องใช้วิจารณญาณด้วย
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัจจุบันไส้เดือนดินถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในการนำมาใช้กำจัดขยะอินทรีย์ให้ย่อยสลายจนหมดสิ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับได้ปุ๋ยจากมูลและฉี่ของไส้เดือนดินที่มีมูลค่าและคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นิยมนำไปใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผล เพราะให้ผลผลิตที่ดีเยี่ยม เนื่องจากให้แร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการในระดับที่สูงและเหมาะสม ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มีการพัฒนาวิจัยในเรื่องของไส้เดือนดินมานานแล้วจนมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งมีการนำมาใช้ประโยชน์ในโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งได้ผลผลิตดีทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพสูง