xs
xsm
sm
md
lg

“ว้าแดง” ขยายเครือข่ายคลุมท่าขี้เหล็ก “หงปัง” นำกลุ่มทุนลุยตั้งโรงงานยางฯ-แมงกานีสส่งจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ท่าขี้เหล็ก - กลุ่มทุนว้าแดงขยายเครือข่ายคลุมท่าขี้เหล็ก หลังผุดโรงแรมหรู-สถานบันเทิงใหญ่..ล่าสุดพบ “หงปัง” ที่เหว่ยเซียะกังก่อตั้งนำทีมลุยตั้งโรงงานยางพารา-แมงกานีสติดพรมแดนริมน้ำรวก จ่อส่งผ่านไทยเข้าจีน ทำชาวไทใหญ่เสียทั้งที่ทำกิน เจอมลพิษ

ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
รายงานข่าวจากชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แจ้งว่า ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 64 นี้ได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนชายแดนในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สาย อย่างคึกคัก โดยเฉพาะบริษัทหงปัง กลุ่มทุนหลักของชนกลุ่มน้อยว้าแดงที่ปกครองพื้นที่เขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ได้ให้บริษัทหลอยสามซอง ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเข้าก่อสร้างโรงงานพื้นที่หมู่บ้านห้องลึก จ.ท่าขี้เหล็ก เพื่อสร้างเป็นโรงงานยางพาราแผ่นและโรงงานแต่งแร่แมงกานีส บนพื้นที่ 250 ไร่

โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ติดพรมแดนลำน้ำรวก ตรงข้ามกับ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องของกลุ่มว้าที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541-2542 และเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุตสาหกรรมที่ทางการเมียนมาได้เวนคืนจากชาวบ้านรวม 1,500 ไร่

แม้เมียนมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากรัฐบาลทหาร-รัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคเอ็นแอลดี และกลับสู่รัฐบาลทหารอีกครั้ง โครงการของสหรัฐว้าดังกล่าวยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือน พ.ค. 2564 หลังมีการรัฐประหารในเมียนมาได้เพียง 3 เดือน บริษัทดังกล่าวได้นำรถแทรกเตอร์เข้าปรับพื้นที่ แต่มีชาวบ้านที่เข้าไปทำการเกษตรในบริเวณดังกล่าวพากันออกมาคัดค้านและขัดขวาง

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมาเข้ากันชาวบ้านออกไป และเปิดให้บริษัทเข้าไปจัดการพื้นที่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ปัจจุบันมีการล้อมรั้วสถานที่เอาไว้อย่างแน่นหนา และคาดว่าได้มีการขนแร่แมงกานีสจากเหมืองแร่ในรัฐฉานมาเก็บเอาไว้เพื่อรอขนส่งเข้าไทยผ่านทางบริษัทเอกชนที่ อ.แม่สาย จำนวน 2 ราย โดยมีรายงานว่าสินแร่ดังกล่าวจะถูกส่งไปยังท่าเรือเพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีน

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้รายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโรงงานเพราะต้องสูญเสียที่ดินทำกินและยังต้องเสี่ยงกับมลพิษ โดยเฉพาะในลำน้ำรวกที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-เมียนมา ซึ่งไหลผ่านเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวพอดี นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องกลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิตยาง ฯลฯ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็สนับสนุนให้มีการออกมาปกป้องคุ้มครองที่ดินของตนเอง กระตุ้นให้รัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มว้ายกเลิกโรงงานดังกล่าวเสียจากนั้นคืนที่ดินให้แก่ชาวบ้านด้วย

ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
สำหรับบริษัทหงปังก่อตั้งในปี 2540 โดยเหว่ยเซียะกัง ผู้นำสหรัฐว้าภาคใต้ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ตรงข้ามชายแดน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย และมีประวัติพร้อมพวกถูกทางการสหรัฐอเมริกาตั้งข้อหาค้ายาเสพติด แต่เนื่องจากการเมืองในเมียนมาทำให้กลุ่มสหรัฐว้า ซึ่งแบ่งเขตการปกครองเป็นเขตว้าเหนือและว้าใต้ กลับมีบทบาทในการพัฒนาทางการทหาร เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนไปทั่วรัฐฉาน โดยเฉพาะสถานบันเทิง โรงแรม ฯลฯ

ตัวอย่างกิจการเครือข่ายกลุ่มว้าที่สำคัญคือโรงแรมวันจีวัน จ.ท่าขี้เหล็ก ที่เคยเป็นแหล่งแพร่ไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา, โรงแรมหรู 18 ชั้น กาสิโน กลุ่มบันเทิงจิงหลง ฯลฯ กระทั่งล่าสุดคือการตั้งโรงงานทั้ง 2 แห่งในท่าขี้เหล็กดังกล่าว ซึ่งขนสินแร่มาจากเมืองโก ห่างจาก จ.ท่าขี้เหล็กไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ที่เริ่มขุดหาแร่ตั้งแต่ปี 2550 และมีรายงานว่ามีแร่แมงกานีสถูกขุดขึ้นมาแล้วกว่า 293,408 ตัน มูลค่า 4,519,388 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่ด่านศุลกากรแม่สายแจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่แมงกานีสจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ผ่านจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย ตรงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เป็นประจำทุกเดือน โดยเดือน ต.ค. 2564 มีปริมาณ 70,540 กิโลกรัม มูลค่า 1,410,800 บาท เดือน พ.ย. 2563 ปริมาณ 11,152,475 กิโลกรัม มูลค่า 20,998,212.78 บาท เดือน ธ.ค. 2563 ปริมาณ 809,300 กิโลกรัม มูลค่า 1,478,392 บาท เดือน ม.ค. 2564 ปริมาณ 1,852,120 กิโลกรัม มูลค่า 2,799,710.91 บาท เดือน ก.พ. 2564 ปริมาณ 1,281,620 กิโลกรัม มูลค่า 2,204,879.82 บาท เดือน มี.ค. 2564 ปริมาณ 4,834,192.11 กิโลกรัม มูลค่า 8,226,192.11 บาท เดือน เม.ย. 2564 ปริมาณ 2,035,000 กิโลกรัม มูลค่า 3,543,592.41 บาท เดือน พ.ค. 2564 ปริมาณ 574,010 กิโลกรัม มูลค่า 1,028,675.28 บาท และเดือน ก.ค.ปริมาณ 2,735,490 กิโลกรัม มูลค่า 4,988,602.73 บาท

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ระบุอีกว่า สำหรับกรณีโรงงานยางพาราแผ่นตั้งเพื่อส่งผลผลิตไปยังประเทศจีนเช่นกัน หลังจากที่มีการปลูกยางพาราในรัฐฉานอย่างต่อเนื่อง รวมพื้นที่มากกว่า 217,950 ไร่แล้ว โดยบริษัทหงปังได้ร่วมกับนักลงทุนจีนส่งเสริมการปลูกทั้งในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่ของรัฐว้าตอนใต้ จากนั้นส่งผลผลิตเข้าไปทำเป็นยางพาราแผ่นดังกล่าวเพื่อส่งไปยังตลาดเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ได้สร้างความกังวลเรื่องผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากเช่นกัน

ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่

ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่

ภาพจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น