xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ! ตรวจ ATK คนชุมชนชายขอบริมสาละวินเป็นบวกกว่า 100 แต่ตัวเลขโควิดแม่ฮ่องสอนไม่ขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่ฮ่องสอน - เครือข่ายด้านสุขภาพพื้นที่ชายแดนสุดทน..ตรวจ ATK คนชุมชนชายขอบริมน้ำสาละวินติดพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยฯ เจอผลบวกเป็น 100 ราย แต่ตัวเลขผู้ป่วยแม่ฮ่องสอนไม่ขยับ จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโควิด 100% ซ้ำ


นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ อาสาสมัครสุขภาพภาคประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในพื้นที่ชุมชนชายแดนไทย-เมียนมาด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยไม่กี่วันก่อนมีชาวบ้านป่วย สุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกเกินกว่า 100 ราย

แต่ทางจังหวัดฯ กลับไม่นับตัวเลขคนกลุ่มนี้เป็นผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่าผู้ที่ยังไม่ผ่านการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลจะไม่ถูกนับรวมเป็นผู้ป่วยของจังหวัด ซึ่งตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านที่อยู่ตามหมู่บ้านห่างไกลจะเดินทางลงไปตรวจถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ถนนลูกรังมีสภาพเละ และบางหมู่บ้านต้องล่องเรือ-ต่อรถไปอีก

นายพงษ์พิพัฒน์ระบุว่า เฉพาะบ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ เมื่อเร็วๆ นี้มีคณะครูเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วไม่สบาย เมื่อออกจากหมู่บ้านแล้วได้เข้าตรวจที่โรงพยาบาลประจำอำเภอจึงพบว่าติดเชื้อโควิด แต่สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านเวลานี้ไม่สบาย เมื่อมีการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK พบว่ามีผลเป็นบวกมากกว่า 100 ราย แต่จะให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต.รับมือเองเพียงลำพังนั้นคงเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการและหนุนเสริมจากจังหวัด

“อย่างน้อย 3 ชุมชน คือ บ้านห้วยมะโอ บ้านสบเมย บ้านพะละอึ เขต ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ยังไม่รวมหย่อมบ้านใกล้เคียง เช่น หย่อมบ้านปู่ทา บ้านโก-งอคี บ้านบุญเลอ และท่าเรือที่บ้านแม่สามแลบ ที่เสี่ยงจะเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่”

นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า ล่าสุด ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ต้องประกาศปิดชุมชน lock down แทบทั้งหมด ห้ามบุคคลเข้า-ออกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นเหมือนชาวบ้านถูกปล่อยลอยแพ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค บุคลากรด่านหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างหนัก ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อออกจากชุมชนและครอบครัว แต่ขาดชุดตรวจ ATK อีกทั้งยังขาดหน้ากากอนามัย ยารักษา มีบางคนทราบข่าวก็ทยอยส่งหน้ากากอนามัย-แคปซูลฟ้าทะลายโจรมาให้ชาวบ้าน ซึ่งก็มีเฉพาะยาเบื้องต้นซึ่งไม่เพียงพอ

“กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก บางบ้านติดทั้งครอบครัว เด็กเล็กเพียง 2 ขวบไม่สบาย งอแงไม่กินนม แม่ก็ติดเชื้อไม่สบายเช่นกันแต่ก็ต้องดูแลกันไปตามยถากรรม”


นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ควรทำคือควรระดมบุคลากรเข้าไปตรวจหาเชื้อในชุมชนให้เร็วที่สุดเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกให้ชัดเจน หากชุดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ชุดตรวจขาดก็ควรระดมจากส่วนกลาง ตลอดจนการทำความเข้าใจกับชุมชนถึงข้อปฏิบัติและป้องกันตามหลักสาธารณสุข เพราะกรณีนี้ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่แพร่กระจายในวงกว้าง ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต.แม่สามแลบ ได้นำข้าวสารอาหารแห้งไปส่งให้ครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อ แต่จริงๆ แล้วผลกระทบเกิดแก่ทั้งชุมชน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกไปนอกพื้นที่ได้ ไม่สามารถซื้อหาอาหารจากภายนอกได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเผยแพร่ภาพการกักตัวในพื้นที่พักรอหรือโรงเรียนในอำเภอสบเมย หลังจากที่มีนักเรียนเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดแล้วกลับมาเรียน ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสบเมยและอำเภอแม่สะเรียงอยู่ในสภาวะหวั่นวิตก เกิดความไม่มั่นใจกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่รายงานสถานการณ์และจำนวนช้า จนทำให้ไม่มั่นใจว่าตัวเลขที่ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอนรายงานแต่ละวันนั้นเป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบหลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการกลับมีจำนวนมากขึ้น

ขณะที่วันนี้มีกลุ่มแพทย์และพยาบาลด่านหน้ากลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันนำสิ่งของและเวชภัณฑ์เดินทางเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายที่พบการแพร่ระบาดหนักในเขต อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยขอไม่ให้ผู้สื่อข่าวทำข่าวเพราะเป็นการทำงานนอกเวลางานและเป็นการรวมตัวกันเข้าไปให้การช่วยเหลือในชุมชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้เหตุผลว่าเพื่อความรวดเร็วในการทำงานให้ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ต้องรอการสั่งการจากผู้บริหาร








กำลังโหลดความคิดเห็น