สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เผยโฉมอาคารปางไม้บอมเบย์เบอร์มา กลางป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประจักษ์พยานของอุตสาหกรรมป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือเพียงหลังเดียวที่คงเหลือกลางผืนป่าลึก
จากองค์ความรู้เรื่อง "อาคารปางไม้ บอมเบย์เบอร์มา แห่งป่าสาละวิน" โดยนายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า กลางป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีอาคารปางไม้ของบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งถือเป็นประจักษ์พยานของอุตสาหกรรมป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือเพียงหลังเดียวที่คงเหลือกลางผืนป่าลึก ที่ทำหน้าที่เป็นสำนักงานทำไม้ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปางไม้” ที่พบหลักฐานในปัจจุบัน (ปัจจุบันยังคงเหลืออาคารที่ทำการตำรวจภูธรน้ำเพียงดินหลังเดิม ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปาย ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกหนี่งหลังที่ทำหน้าที่เป็นปางไม้ในอดีต แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้มีถนนเข้าถึงโดยสะดวกแล้ว)
อาคารปางไม้แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 25 บ้านป่าเหว ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาคารตั้งอยู่บริเวณร่องหุบเขาที่วางตัวตามแนวทิศตะวันออกตะวันตกโดยตั้งอยู่บนเนินตะพักด้านทิศใต้ของลำห้วยกองคา ซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลไปทางทิศตะวันตกสู่แม่น้ำสาละวิน ทางด้านทิศใต้ของพื้นที่อาคารเป็นเนินเขาขนาดเล็ก
ตัวอาคายกพื้นสูงมีผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า 2 ห้อง ด้านหน้าสุดเป็นระเบียงโถง เสาและตัวอาคารสร้างด้วยไม้ หลังคาเป็นทรงปั้นหยา มีบันไดทางขึ้นบริเวณทิศตะวันออกของมุขหน้า จากการพิจารณารูปแบบอาคารพบว่ามีรูปแบบที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอาการที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2444-2498 ที่เป็นอาคารเกี่ยวเนื่องกับกิจการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ทั้งอาคารของบริษัทต่างชาติและอาคารของรัฐบาลสยาม ซึ่งมีลักษณะร่วมคือมักเป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยา มักมีมุขยื่นออกมาจากตัวอาคารหลักในลักษณะมุขโถง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าหรือด้านข้างมุข
เมื่อนำรูปแบบอาคารหลังนี้ เปรียบเทียบกับกลุ่มอาคารเกี่ยวเนื่องกับกิจการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า อาคารมีความคล้ายคลึงกับอาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่และป่าไม้ภาคลำปางอย่างมาก สรุปได้ว่าอาคารหลังนี้น่าจะเป็นอาคารที่ทำการของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าในพื้นที่ป่าสาละวิน ในช่วงปี 2434-2468
จากข้อมูลเอกสารแบบสำรวจอาคารราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ที่รวบรวมจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่และเอกสารทางราชการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่าอาคารปางไม้หลังนี้สร้างในช่วงปี 2462-2472 โดยขุนจันต๊ะ ตาวากุล คหบดีในพื้นที่ที่ทำการกิจการป่าไม้ และบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง คอมพานี บริษัทค้าไม้สัญชาติอังกฤษ เพื่อเป็นอาคารทำการในพื้นที่ป่าสาละวิน (ปางไม้)
จากหลักฐานพอสันนิษฐานได้ถึงช่วงเวลาในการสร้างและใช้งานอาคารว่าน่าจะอยู่ในราวปี 2438-2468 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่ามีบทบาทในการทำกิจการป่าไม้ในพื้นที่ป่าสาละวินและในล้านนา โดยในกระบวนการทำป่าไม้ในพื้นที่ป่าผู้รับสัมปทานจะสร้างปางไม้ไว้ในพื้นที่ป่าบริเวณใกล้ลำน้ำสาขาที่ไหลไปบรรจบกับลำน้ำสายใหญ่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายท่อนซุง โดยอาศัยการไหลหลากของน้ำในช่วงฤดูฝนนำพาท่อนซุงไป ปางไม้กลางป่าสาละวินแห่งนี้คงได้ทำหน้าที่ในการเป็นส่วนปฏิบัติงาน ทั้งการตัดฟันการรวบรวมไม้ การดำเนินงานทางเอกสาร และขนถ่ายทอดซุงลงห้วยกองคา ซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลผ่านด้านหน้าปางไม้นี้ไปทางทิศตะวันตก ออกสู่แม่น้ำสาละวิน
#################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline