xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงกุ้งกาฬสินธุ์ยิ้ม! ศบค.คลายล็อก เปิดรับออเดอร์ไม่อั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกาฬสินธุ์พร้อมส่งผลผลิตให้แก่ร้านอาหาร และตลาดสดต่างๆ รับมาตรการคลายล็อก เริ่ม 1 กันยายนนี้
กาฬสินธุ์ - เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกาฬสินธุ์ดีใจขานรับมาตรการคลายล็อกพื้นที่สีแดงเข้ม พร้อมส่งผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาด โดยเฉพาะร้านอาหารในภาคอีสาน หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กระทบบรรยากาศการซื้อขายกุ้งซบเซามายาวนาน


ภายหลังจาก ศบค.เตรียมประกาศมาตรการปลดล็อกพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งพื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายให้ร้านอาหารในหลายจังหวัด อนุญาตให้ร้านอาหารไม่มีแอร์นั่งรับประทานได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนร้านมีแอร์นั่งรับประทานได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เริ่มวันที่ 1 กันยายนนี้ ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม จ.กาฬสินธุ์ ต่างตื่นตัวลงบ่อสำรวจผลผลิต นำตาข่ายมาช้อนกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงไว้ในบ่อเตรียมรับออเดอร์ส่งลูกค้า โดยเฉพาะตลาดสดและร้านอาหารต่างๆ ทั่วภาคอีสาน

นายอาทิตย์ ภูบุญเติม อายุ 52 ปี หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม และพ่อค้าคนกลางจำหน่ายกุ้งก้ามกราม กล่าวว่า หลังทราบข่าวว่า ศบค.จะปลดล็อกมาตรการต่างๆ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะการผ่อนคลายให้ร้านอาหาร รวมทั้งตลาดสด ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อกุ้งก้ามกราม ทุกคนดีใจมาก ก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้กุ้งก้ามกราม ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้ให้เกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ปีละกว่า 1 พันล้านบาท ได้รับผลกระทบขายลำบาก เงียบเหงามานาน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเดือดร้อนทั่วหน้า

ช่วงภาวะปกติจะมีพ่อค้าเร่ รวมทั้งเจ้าของร้านอาหารจากจังหวัดต่างๆ เข้ามารับซื้อกุ้งสดที่ปากบ่อทุกวัน แต่ละรายซื้อไม่น้อยกว่า 100-200 กก. พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 แหล่งรับซื้อกุ้งปิดตัวลง ทำให้กุ้งในบ่อตกค้างจำนวนมาก ไม่มีตลาดส่ง ตนและผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งต้องนำกุ้งไปขายเองวันละ 40-50 กก. บางคนเร่ขายตามหมู่บ้าน และลดราคาลงจาก กก.ละ 250 บาท เหลือ กก.ละ 200-230 บาทตามขนาดของกุ้ง ซึ่งต้องยอมขาดทุนดีกว่าจะปล่อยให้ค้างบ่อและน็อกตายเหมือนที่เคยเกิดเหตุกรณีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง






จากที่มีข่าวว่า ศบค.จะปลดล็อกให้ร้านค้า ร้านอาหาร แหล่งรับซื้อกุ้งก้ามกราม เริ่มผ่อนคลายวันที่ 1 กันยายนนั้น ต้องขอขอบคุณรัฐบาลและ ศบค.เป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีตลาดจำหน่าย และผู้ประกอบการขนส่งกุ้ง ร้านค้า ร้านอาหาร จะมีงานทำ มีรายได้ พอทราบข่าวจึงได้สำรวจปริมาณกุ้งในบ่อ ขณะเดียวกันเริ่มมีพ่อค้าต่างจังหวัดเข้ามาติดต่อรับซื้อกุ้งบ้างแล้วเพื่อนำไปเตรียมสำรองไว้ในร้านและเตรียมเปิดบริการ ก่อนที่ราคาจะขยับขึ้นจาก กก.ละ 200-230 บาท เป็น กก.ละ 250-300 บาท เหมือนภาวะปกติที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น