กาญจนบุรี - ผู้ว่าฯ กาญจน์เข้ม ประกาศคำสั่งสถานประกอบการโรงงานทุกแห่งที่มีแรงงานทั้งชาวไทย-เทศเกิน 100 คน เร่งจัดตั้งศูนย์พักคอยขึ้นภายโรงงานร้อยละ 10% ของจำนวนแรงงาน ส่วนสถานประกอบที่มีแรงงานไม่ถึง 100 คน ให้ใช้ไหวพริบพิจารณา
วันนี้ (20 ส.ค.) นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี ลงนามในประกาศคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 4007/2564 เรื่อง มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงงานหรือสถานประกอบการ
คำสั่งระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรียังพบผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีการแพร่ระบาดในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และมีอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เต็มศักยภาพของสถานพยาบาล จึงทำให้มีข้อจำกัดในการรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายใหม่เข้าสู่กระบวนการรักษา
ประกอบกับจังหวัดกาญจนบุรีถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เกิดประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และถูกต้องตามแนวทางของการสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และข้อ 8 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 และฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี จึงมีคำสั่งดังนี้
1.ให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จัดตั้งศูนย์พักคอยในโรงงานหรือสถานประกอบการ (Factory Isolation : Fl) โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานและต้องเพียงพอต่อการแยกกักตามแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อเป็นการควบคุมโรคในโรงงานหรือสถานประกอบการ ตามแนวทางแนบท้ายคำสั่งนี้ และต้องดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วในทันที
2.ให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานน้อยกว่า 100 คน พิจารณาจัดตั้ง Factory Isolation : Fl ตามความเหมาะสมแก่กรณีในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง
3.กรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงงานหรือสถานประกอบการจนเกินศักยภาพที่ผู้ประกอบการจะรองรับได้ ให้ดำเนินการประสานอำเภอ หรือโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ เพื่อนำผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลสนามตามที่จังหวัดกำหนด
4.ให้โรงงานหรือสถานประกอบการ จะต้องดำเนินการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้แก่พนักงานที่ต้องมาปฏิบัติงานทุกสัปดาห์ ในการตรวจครั้งที่ 1 ต้องตรวจจำนวนร้อยละ 100 ครั้งต่อไปให้สุ่มตรวจร้อยละ 20 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มาปฏิบัติงานเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยให้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และแจ้งผลการตรวจให้อำเภอทราบทุกครั้ง และให้อำเภอรายงานให้จังหวัดทราบ
5.มอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้บริหารจัดการในพื้นที่ พร้อมทั้งกำกับ ติดตาม และตรวจตราให้โรงงานหรือสถานประกอบการ ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 1-4 อย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาอุปสรรคให้รายงานจังหวัดทราบในทันที
6.ให้นายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี แรงงานจังหวัดกาญจนบุรี จัดหางานจังหวัดกาญจนบุรี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี ประกันสังคมจังหวัดกาญจนบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกาญจนบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ตรวจตราและกำกับให้เป็นไปตามคำสั่งนี้ หากพบว่าโรงงานหรือสถานประกอบการใดไม่ดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้เสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อพิจารณาปิดโรงงานหรือสถานประกอบการทันที
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
อนึ่ง ด้วยเหตุที่เป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อผลเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามนัยมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป