จันทบุรี - เกษตร จ.จันทบุรี ยันไม่นิ่งนอนใจเหตุจีนห้ามนำเข้าลำไยจากล้งผลไม้ในพื้นที่ถึง 28 แห่ง ขณะที่นายกสมาคมค้าชายแดนฯ จี้ 2 กระทรวงใหญ่ทั้งพาณิชย์-เกษตรฯ ช่วยกรมวิชาการเกษตรเจรจา ชี้ไม่สำเร็จเฉพาะจันทบุรีที่เดียวเสียหายนับหมื่นล้าน
จากกรณีที่ประเทศจีนได้สั่งห้ามนำเข้าผลไม้จากโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ถูกแจ้งเตือนจำนวน 66 แห่งในประเทศไทยแบ่งเป็นในพื้นที่ จ.จันทบุรี 28 แห่ง สระแก้ว 1 แห่ง เชียงใหม่ 11 แห่ง และ จ.ลำพูน 26 แห่ง หลังสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ตรวจพบเพลี้ยแป้งในลำไยจากไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา และได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังและดำเนินการแก้ไข
กระทั่งล่าสุด ได้มีประกาศห้ามนำเข้าผลไม้จากโรงคัดแยกทั้ง 66 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.2564 เป็นต้นไป ทำให้หน่วยงานของไทยคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกลำไยที่เริ่มถึงฤดูเก็บผลผลิต เนื่องจากมีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน
นอกจากนั้น ยังอาจกระทบต่อราคาจำหน่ายในประเทศหลังจากนับตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป จะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดนั้น
วันนี้ (13 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี ว่า คำสั่งห้ามนำเข้าลำไยจากไทยย่อมส่งผลกระทบต่อชาวสวนลำไยใน จ.จันทบุรี ซึ่งถือว่ามีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน เนื่องจากคาดว่าในปี 2564 นี้ จ.จันทบุรี จะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน
แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน ส.ค.นี้ จ.จันทบุรี จะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดเพียงแค่ 5% ของปริมาณที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดทั้งหมด โดยช่วงที่ผลผลิตลำไยจันทบุรีจะออกสู่ตลาดมากที่สุดคือ เดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งในช่วงเวลา 2 เดือนนับจากนี้จะทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสปรับตัวและหาแนวทางป้องกันไม่ให้ลำไยที่เกิดเพลี้ยแป้งหลุดออกสู่ตลาด
"หลังจากที่กรมวิชาการเกษตร ได้แจ้งเตือนเรื่องการตรวจพบเพลี้ยแป้งในลำไยจากไทยตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ทำหนังสือราชการแจ้งเตือนไปยังชาวสวนและผู้ประกอบการล้งผลไม้ หน่วยงานเกษตรในแต่ละอำเภอ และสมาคมการค้าชายแดน เพื่อเร่งให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเข้มงวด"
ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก และการเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะลำไย ซึ่งหากเกษตรกรพบว่าเกิดเพลี้ยแป้งที่จุดใดให้ตัดทิ้งทันที ขณะที่ขั้นตอนการเก็บเจ้าของสวนจะต้องควบคุมลูกจ้างให้คัดแยกผลผลิตที่เกิดเพลี้ยแป้งออกจากผลผลิตที่ดีเพื่อไม่ให้หลุดไปถึงโรงงานบรรจุ
แต่หากเมื่อมีการหลุดรอดผลผลิตที่มีปัญหาบางส่วนไปถึงโรงงานบรรจุแล้ว ในส่วนของโรงบรรจุจะต้องเร่งทำการคัดแยกอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้หลุดไปถึงมือคู่ค้าในต่างประเทศ
เกษตรจังหวัดจันทบุรี ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเกษตร ได้ประชุมร่วมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จนได้ข้อสรุปตั้งแต่แรกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเร่งให้ความรู้แก่เกษตรกร เนื่องจากลำไยออกผลผลิตเป็นช่อที่จะมีทั้งผลผลิตที่ดีและผลผลิตที่มีเพลี้ย ดังนั้น ขั้นตอนการเก็บและคัดแยกจึงสำคัญมาก
และยังพบว่าหลังเกิดปัญหาพบว่าเกษตรกรในพื้นที่มีความตื่นตัวในการดูแลผลผลิตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเพลี้ยแป้งกำจัดยาก จึงจำเป็นต้องดูแลเรื่องการใช้สารเคมี และในช่วงเวลาอีก 2 เดือนที่เหลือนี้เชื่อว่าเกษตรกรจะได้ดูแลผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดล็อตใหญ่อย่างเต็มที่
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องจีนห้ามนำเข้าลำไยจากไทยนั้น หน่วยงานระดับที่สูงขึ้นจะต้องเร่งเจรจาทางการค้ากับจีน ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมแนวทางดำเนินการไว้แล้วเช่นกัน
นายกสมาคมการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา จี้ 2 กระทรวงใหญ่เร่งเจรจา ชี้ไม่สำเร็จเสียหายนับหมื่นล้าน
ด้าน ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา เผยว่า คำสั่งห้ามนำเข้าผลไม้จากโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จากจันทบุรีมากถึง 28 แห่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และหาก 2 กระทรวงใหญ่ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือกรมวิชาการเกษตรในการเร่งหาทางเจรจา จะทำให้ตลาดลำไยของไทยปีนี้เสียหายหนักมาก
โดยเฉพาะผลผลิตลำไยใน จ.จันทบุรี ที่จะทยอยออกสู่ตลาดมากถึง 300,000 ตัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2564-ม.ค.2565 และมากกว่า 50% เป็นการรับซื้อจากล้งผลไม้ทั้ง 28 แห่งที่ถูกตัดสิทธิ
“จันทบุรี มีมูลค่าการส่งออกลำไยต่อปีประมาณ 8,500-10,000 ล้านบาท ซึ่งหาก 2 กระทรวงใหญ่ยังนิ่งเฉยและปล่อยให้กรมวิชาการเกษตรแก้ปัญหาแต่เพียงหน่วยงานเดียว เชื่อว่าตลาดลำไยไทยถึงคราวล่มสลายแน่ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ และทูตไทยในเมืองปักกิ่ง ต้องเข้ามาช่วยเจรจาเพื่อให้การค้าเดินต่อไปได้”
สำหรับแนวทางแก้ไขที่ ดร.รัฐวิทย์ เสนอต่อหน่วยงานภาครัฐคือ การเจรจาเพื่อขอผ่อนผันให้ทางการจีนบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวออกไป 1 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ล้งที่ถูกตัดสิทธิแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
พร้อมตั้งกฎว่าแม้ในปีนี้จะได้รับอนุญาตให้ส่งออกลำไยได้ แต่ในปีหน้าหากตรวจสอบพบว่าล้งที่ถูกระบุยังเจอปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้งในลำไยไม่น้อยกว่า 50% ก็จะต้องถูกตัดสิทธิในทันที แต่หากล้งใดสามารถแก้ปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้งในลำไยได้มากกว่า 70% จะได้รับการปลดล็อก
“ที่ผ่านมา ลำไยจันทบุรีไม่เคยสร้างปัญหาให้รัฐ เพราะส่งออกได้ราคาดีมาตลอดแม้จะต้องประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงเก็บผลผลิต ซึ่งสมาคมฯ ได้ทำเรื่องถึงผู้ว่าฯ ให้เสนอ สบค.เพื่ออนุญาตให้สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยเก็บผลผลิตได้ภายใต้มาตรการตรวจเข้มโควิด-19 ทั้งจาก 2 ประเทศ และเมื่อมาเจอปัญหาล่าสุดเรื่องคำสั่งจากจีน ยิ่งถือเป็นปัญหาหนักและหากรัฐยังแก้ไม่ได้เชื่อว่าตลาดผลไม้ไทยมีปัญหาแน่” ดร.รัฐวิทย์ กล่าว