นครราชสีมา - นายอำเภอโชคชัยมั่นใจมาตรการ “บับเบิลแอนด์ซีล” เพื่อควบคุมโรคและจำกัดขอบเขตพื้นที่การระบาดโควิด-19 ในโรงงานไก่ 2 แห่งโคราช สามารถดูแลแรงงานและปกป้องชุมชนได้อย่างปลอดภัย
นายสมชาย อำพันกาญจน์ นายอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในอำเภอโชคชัยว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการวางมาตรการป้องกันต่างๆ ออกมาอย่างเป็นระบบ และประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามการควบคุมและป้องกันโรคในโรงงานแปรรูปไก่ 2 แห่งในอำเภอ ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
“มาตรการสำคัญที่โรงงานนำมาใช้เพื่อดูแลแรงงาน และปกป้องชุมชนคือการทำบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.กำหนด เพื่อควบคุมโรคและจำกัดขอบเขตพื้นที่การระบาด ขอยืนยันให้พี่น้องในชุมชน อ.โชคชัยมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานออกมาแพร่เชื้อสู่คนในชุมชนได้อย่างแน่นอน” นายอำเภอโชคชัยกล่าว
ทั้งนี้ ระบบบับเบิลแอนด์ซีลดังกล่าวจะเน้นย้ำการจัดกลุ่ม คุมไว ลดแพร่กระจาย รายได้ไม่สูญเสีย รวมถึงการแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ CI ของโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเสี่ยงให้กักตัวในโรงงานและพักในสถานที่ที่จัดให้ เชื่อว่าหลังผ่านไป 1 เดือนยอดผู้ติดเชื้อจะลดลงเป็นลำดับ
ขณะที่ นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ ครุธกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโชคชัย กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า มาตรการ Bubble and Seal ที่โรงงานนำมาใช้จะหยุดการแพร่ระบาดสู่ชุมชน เพราะเป็นการแยกผู้ติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยง มีการจัดสถานที่พักกักตัวไว้ภายในโรงงาน หรือหากจัดหาที่พักที่เหมาะสมภายนอก ก็ต้องจัดรถรับส่งไม่ให้แรงงานออกไปนอกเส้นทางหรือพื้นที่ที่กำหนด รวมถึงตรวจหาเชื้อผู้กักตัวทุกคนทุกสัปดาห์ ถ้าพบป่วยรายใหม่ก็จะแยกออกมาเพื่อส่งตัวรักษาในโรงพยาบาลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟใน ต.ท่าเยี่ยม เป็นตัวอย่างโรงงานที่วางมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น โดยยกระดับมาตรการขั้นสูงสุด และเร่งดำเนินการระบบ Bubble and Seal เพื่อดูแลแรงงานและปกป้องชุมชนอย่างเต็มที่ ภายใต้คำแนะนำจากภาคราชการและทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้ทำการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้พนักงานไปแล้ว 90% นอกเหนือไปจากเน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT ของพนักงานทุกคนทั้งคนไทย และกัมพูชา
ด้าน นายปัญญา กลั่นกระโทก ประชาชนในเขตเทศบาลอำเภอโชคชัย กล่าวว่า ได้รับทราบว่าในโรงงานแปรรูปไก่มีมาตรการป้องกันที่เข้มข้น ควบคุมคนงานอยู่ในพื้นที่จำกัดที่จัดเอาไว้ ทำให้ตนรู้สึกอุ่นใจและเชื่อมั่นว่าโรงงานจะสามารถป้องกันควบคุมโรคไว้ในวงจำกัดได้โดยเร็ว