xs
xsm
sm
md
lg

โคราชมีข่าวดี! เสียชีวิตเป็นศูนย์แต่ติดเชื้อยังสูง คลัสเตอร์ รง.ไก่ชู “Factory Sandbox” สู้โควิดรอดไปด้วยกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชมีข่าวดี! ผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ แต่ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง 488 ราย ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เสี่ยง 311 ราย และติดเชื้อในจังหวัด 177 ราย ขณะคลัสเตอร์ รง.แปรรูปเนื้อไก่ อ.โชคชัยย้ำปิด รง.ไม่ใช่ทางออก ชู “Factory Sandbox” สู้โควิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสาธารณสุขเดินหน้าไปด้วยกัน

วันนี้ (10 ส.ค.) ศูนย์โควิด-19 โคราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา รายงานข้อมูลสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของระลอกใหม่เมษายนของ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 488 ราย แยกเป็นติดเชื้อนอกจังหวัด 311 ราย และติดเชื้อในจังหวัด 177 ราย รวมผู้ป่วยสะสมจำนวน 11,403 ราย รักษาหาย 4,767 ราย ยังรักษาอยู่ 6,550 ราย วันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ รวมเสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 86 ราย


สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 488 ราย แยกเป็นรายพื้นที่อำเภอดังนี้ อ.สูงเนิน 119 ราย, อ.โนนไทย 52 ราย, อ.ประทาย 49 ราย, อ.สีคิ้ว 32 ราย, อ.ครบุรี 30 ราย, อ.เสิงสาง 26 ราย, อ.เมือง 23 ราย, อ.ห้วยแถลง 21 ราย, อ.พิมาย 18 ราย, อ.ขามสะแกแสง 16 ราย, อ.โนนสูง 16 ราย, อ.บัวใหญ่ 16 ราย, อ.ด่านขุนทด 11 ราย, อ.วังน้ำเขียว 11 ราย, อ.ปักธงชัย 8 ราย, อ.บ้านเหลื่อม 7 ราย, อ.พระทองคำ 7 ราย, อ.ชุมพวง 6 ราย, อ.ลำทะเมนชัย 6 ราย, อ.สีดา 5 ราย, อ.จักราช 4 ราย, อ.บัวลาย 3 ราย และ อ.ขามทะเลสอ 2 ราย

ส่วนกรณีการแก้ปัญหาการหาคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่งในพื้นที่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ที่ทุกภาคส่วนกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่นั้น แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเผยว่า หลังจากประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวไปมหาศาลเพราะการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจที่ยังพอช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศได้คือ “ธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่” เพราะภาพรวมการส่งออก 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 132,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.01 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเป็นบวกถึง 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้


ดังนั้น หนึ่งในธุรกิจส่งออกที่ยังคงขับเคลื่อนได้ในขณะนี้คือ ธุรกิจอาหาร แต่อุปสรรคสำคัญคือการติดเชื้อของแรงงานในโรงงานผลิตอาหารที่มีจำนวนถึง 93 โรงงาน (ข้อมูลเมื่อ 10 มิ.ย.-26 ก.ค.2564) ซึ่งหากรัฐตัดสินใจปิดโรงงานทั้งหมดทันที ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคือความบอบช้ำของระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากจะทำให้แรงงานภายในโรงงานกระจายตัวออกหางานในชุมชนหรือพื้นที่อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการแพร่เชื้อแล้ว ยังเป็นการปิดเครื่องผลิตรายได้เข้าประเทศ กระทบไปตลอดห่วงโซ่เลยทีเดียว


เมื่อการปิดโรงงานไม่ใช่ทางออก การศึกษาแนวทางสร้างสมดุลให้ทั้งเศรษฐกิจและสาธารณสุขจึงเป็น แนวทางที่น่าสนใจ คือ มาตรการ Factory Sandbox ของกระทรวงแรงงาน ที่ดูสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ด้วยเป็นการจัดการในลักษณะเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่จะดำเนินการควบคู่กันระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ โดยมีแนวทาง เช่น

ทำการคัดกรองคนงานด้วยการ Swab และตรวจด้วย RT-PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันที และดำเนินการตรวจด้วย Antigen Test Kit ทุกสัปดาห์, จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation : FAI) เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยโรงงานที่มีแรงงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไปดำเนินการจัด FAI ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด, ควบคุมการปฏิบัติตัวของแรงงานตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล และ DMHTT พร้อมจัดรถรับส่งระหว่างที่พักกับโรงงาน ไม่แวะระหว่างทาง เพื่อควบคุมไม่ให้แรงงานออกนอกพื้นที่ และเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์


ทั้งนี้ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงงานที่นำมาตรการ Factory Sandbox มาใช้และทำได้ดี โดยเพิ่มเติมในรายละเอียดของการดูแลแรงงาน ทั้งการจัดหาที่พักที่เหมาะสม การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดความดัน วัดออกซิเจน ยารักษาโรคทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย รวมถึงการจัดอาหารให้ทั้ง 3 มื้อ ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์

มาตรการ “Factory Sandbox” ที่ครอบคลุมการทำบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) นั้นยังเป็นมาตรการที่ดูแล “ชุมชน” ที่โรงงานต่างๆ ตั้งอยู่ด้วย เพราะหากควบคุมเส้นทางและที่พักได้ การแพร่เชื้อหรือรับเชื้อในครอบครัวและในชุมชนจะลดลง ทุกคนก็ปลอดภัย ขณะที่แรงงานยังมีรายได้ มีงานทำ กระบวนการผลิตสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสะดุดของปริมาณสินค้า ไม่กระทบผู้คนในชุมชน และไม่กระทบถึงการส่งออก ซึ่งเป็นฟันเฟืองตัวเดียวที่ยังคงพยุงเศรษฐกิจของไทยไว้ในสถานการณ์โควิด-19 นับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสาธารณสุขให้เดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างลงตัว




กำลังโหลดความคิดเห็น