xs
xsm
sm
md
lg

สภาเมืองพัทยาถกเดือดญัตติก่อหนี้ผูกพันจ้างเหมาทำ CCTV วงเงิน 200 ล้าน สุดท้ายต้องปิดประชุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - สภาเมืองพัทยาถกเดือดญัตติขอรับความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันจ้างเหมาทำ CCTV 3 ปี วงเงิน 200 ล้านบาท ฝ่ายค้านจี้สัญญาไม่ครอบคลุมหวั่นเสียงบประมาณโดยใช่เหตุจึงขอให้ทบทวนใหม่ สุดท้ายหาข้อสรุปไม่ได้จนต้องปิดประชุม

จากกรณีที่สภาเมืองพัทยา ได้จัดประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 เพื่อพิจารณาโครงการและวาระจำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่ โดยมี นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุม และมีนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นำคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเมืองพัทยา เข้าร่วมเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างเคร่งเครียด

เมื่อ นายบรรลือ กุลละวนิชย์ รองนายกเมืองพัทยา ได้ขอญัตติเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่า 1 ปี งบประมาณของสำนักยุทธศาสตร์และงบประมาณ เพื่อจ้างเหมาเอกชนจัดทำระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดมีศักยภาพสูงดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว

และยังเป็นการสอดรับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC คาดว่าจะมีการลงทุนจากภาคเอกชนกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน เริ่มตั้งแต่ ต.ค.2564-ก.ย.2567 ภายใต้งบดำเนินการ 200 ล้านบาท

หลังโครงการกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV ของเมืองพัทยา ที่มีมากกว่า 2,027 ตัวที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ผ่านการใช้งานมานานกว่า 7 ปี และกล้องส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดสัญญาระยะรับประกันไปแล้ว อีกทั้งยังปัญหาด้านบุคลากรที่ไม่เพียงพอในการดูแล บำรุงรักษา และซ่อมแซม


และปัจจุบันยังพบว่ากล้องโทรทัศน์วงจรปิดของเมืองพัทยาสามารถใช้ประโยชน์ได้เพียง 44 ชุด ซึ่งการว่าจ้างผู้รับเหมาเช่าระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเริ่มแรกจะใช้กล้องจำนวน 940 ชุด ตามข้อกำหนดของ ICT คือต้องมีความละเอียดระหว่าง 2-5 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องเดิมจะถูกจำหน่ายออกจากบัญชีครุภัณฑ์ตามระเบียบทางราชการ

ขณะที่ความจำเป็นที่จะต้องทำการว่าจ้างเกิน 1 ปีงบประมาณมีเป้าหมายสำคัญที่การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัญญา 3 ปี จะแบ่งออกเป็นปี 2565 จำนวน 30 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 80 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 90 ล้านบาท

นอกจากนั้น ในอนาคตยังจะเสนอขอรับความเห็นชอบว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดูแลระบบกล้องต่ออีก 3 ปี ปีละ 15 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท เพื่อให้ดูแลระบบกล้องเดิม พร้อมตั้งเป้าหมายในปี 2568-2570 ที่จะเพิ่มกล้องวงจปิดอีกจำนวนเป็น 1,907 ตัว


ขณะที่ นายสินไชย วัฒนศาสตร์สาธร สมาชิกสภาเมืองพัทยา เผยว่า ที่ผ่านมาสภาฯ ได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้สามารถใช้งานได้เพียง 30-40% โดยสาเหตุหลักคือระบบสายสัญญาณที่มักมีปัญหาไฟไหม้บ่อย ซึ่งที่ผ่านมา สภาฯ ได้อนุมัติโครงการ Fiber optic ลงใต้ดินซึ่งจัดทำเสร็จไปแล้ว 2 โครงการ

“เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก แต่โครงการที่จัดทำขึ้นมองแล้วสัญญามันไม่ครอบคลุมจึงอยากให้ศึกษาใหม่เพื่อไม่ให้เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ เช่น การติดกล้องในเรือโดยสาร จำนวน 200 ชุดเพื่อป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ งบประมาณกว่า 59 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายกล้องสูญหายไปหมด ขณะที่การติดตั้งกล้องวงจรปิดไม่มีการรับประกันว่าเมื่อทำระบบนี้แล้วกล้องจะติดสมบูรณ์ได้ 100%” นายสินไชย กล่าว

แต่นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวแย้งว่า การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดควรเป็นโครงการที่ต้องเดินหน้าเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันเมืองพัทยา ได้เดินหน้าแผนพัฒนาต่างๆ ไปกว่า 80%

โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองพัทยาแบบ Digital โดยให้ทางคณะ GIS จาก ม.บูรพา เข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยมั่นใจว่าเฟสสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ระบบ Fiber optic ใต้ดินจะครอบคลุมทั่วทั้งเมืองพัทยาแน่นอน


ทั้งนี้ เมื่อบรรยากาศการอภิปรายเริ่มมีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอแนะที่หลากหลายทั้งเห็นต่าง และสนับสนุน

 สุดท้าย นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา ต้องกล่าวสรุปในที่ประชุมว่าการเสนอว่าจ้างผู้รับเหมาเข้าติดตั้งกล้องวงจรปิดถือเป็นประโยชน์ต่อเมืองพัทยา แต่ระยะเวลาการดูแลที่ยาวนานและอีกหลายเงื่อนไขเรื่องการรับผิดชอบค่าเสียหายหากกล้องเกิดการชำรุด จึงจำเป็นจะต้องทำการ ศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาการร้องเรียนในอนาคต

จากนั้นประธานสภาฯ จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 88 ของระเบียบ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา ขอให้มีการลงมติในทางลับ ซึ่งแม้นายกเมืองพัทยา จะคัดค้านว่าการลงมติในการทางลับไม่เห็นสมควรเนื่องจากควรเป็นเรื่องของสถาบัน หรือความมั่นคงของชาติ ซึ่งประธานสภาฯ ระบุว่าเป็นอำนาจที่สามารถกระทำได้ ซึ่งผลการลงเสียงออกมาเสมอกันคือ 4:4 ทำให้ประธานต้องอาศัยอำนาจชี้ขาด ก่อนระบุว่าให้ฝ่ายบริหารไปจัดทำโครงการเข้ามานำเสนอมาใหม่อีกครั้ง






กำลังโหลดความคิดเห็น