xs
xsm
sm
md
lg

พบกระทิงป่า 2 ตัวน่าสงสัยติดเชื้อ "ลัมปีสกิน" ส่งภาพ "หมอล็อต" ตรวจสอบหวั่นแพร่ระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่อุทยายแห่งชาติกุยบุรี ออกติดตามฝูงกระทิงออกหากิน พบ 2 ตัวน่าสงสัย ติดเชื้อ "ลัมปีสกิน" ส่งภาพ "หมอล็อต" ตรวจสอบ หวั่นแพร่ระบาดในหมู่สัตว์ป่า

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เผยว่า ทางเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พร้อมด้วย น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังคงจัดชุดแบ่งสายติดตามเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปีสกินในสัตว์เลี้ยง ลามระบาดสู่สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำซึ่งเป็นช่วงที่ฝูงกระทิงออกหากินตามแปลงหญ้าจุดต่างๆดังนั้น จึงต้องจัดเจ้าหน้าที่กระจายออกไปพร้อมอุปกรณ์บันทึกภาพฝูงกระทิงแต่ละจุดที่ออกหากิน โดยการเฝ้าติดตามหากฝูงกระทิงและวัวแดงออกมาเจ้าหน้าที่แต่ละจุดที่วางไว้ต้องอยู่ในระยะห่าง และใช้กล้องส่องสัตว์ รวมทั้งกล้องถ่ายรูปที่มีเลนส์ซูมในระยะไกล เมื่อหากพบการเดินหาอาหารกินของฝูงกะทิงและวัวแดงที่ออกมาผิดปกติ

เจ้าหน้าที่จะต้องบันทึกภาพความผิดปกติลักษณะท่าทางการเดิน รวมทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก พร้อมบันทึกข้อมูลพิกัดจุดที่พบทุกครั้ง และหากพบอาการผิดปกติจะต้องรีบรายงานให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อลงมาประเมินสถานการณ์ต่อไป

ซึ่งวันนี้ในช่วงเย็น นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่าบริเวณโป่งสลัดได พบกระทิงออกหากินจำนวน 46 ตัว และบริเวณแปลงหญ้าทหาร พบกระทิงออกหากิน จำนวน 67 ตัว รวม 113 ตัว ซึ่งผลการสำรวจพบกระทิงจำนวน 2 ตัว ที่ต้องสงสัยว่ามีรอยโรคระบาดลัมปีสกิน แต่กระทิงทั้ง 2 ตัว ยังไม่มีการแสดงอาการอ่อนแอใดๆ สามารถกินได้ตามปกติ เบื้องต้นได้ส่งรูปภาพให้นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทีมสัตวแพทย์ตรวจสอบ

เพื่อยืนยันว่าใช่รอยโรคลัมปีสกินหรือไม่ เบื้องต้น นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานและภาพที่บันทึกกระทิงทั้ง 2 ตัว และบอกว่า รอยโรคยังไม่ชัดซึ่งหากเป็นจะมีรอยโรคมากว่านี้ ซึ่งรอบแบบนี้แมลงทั่วไปกัดก็เป็นได้ ต้องมีอาการอย่างอื่นประกอบและมีรอยโรคเพิ่มเติม จากการประเมินสภาพทั่วไปกระทิงยังกินและดำรงชีวิตปกติอยู่

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มีสัตว์เลี้ยงป่วยสะสมทั้งหมด 3,260 ตัว สัตว์เลี้ยงหายป่วยสะสม 1,009 ตัว ตายสะสม 225 ตัว คงเหลือป่วยสะสม 2,026 ตัว






กำลังโหลดความคิดเห็น