บุรีรัมย์ - ชาวบ้านบ้านพลวง บุรีรัมย์ รวมตัวถือป้ายบุก อบต.ค้านก่อสร้างโรงงานผลิตแอสฟัลติกคอนเกรีตหรือยางมะตอยใกล้หมู่บ้าน หวั่นก่อมลพิษกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ นายก อบต.รับปากพร้อมทำเรื่องระงับไว้ก่อน จ่อเปิดเวทีฟังความคิดเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้าน ผู้สูงอายุ และลูกหลานในหมู่บ้านบ้านพลวง ต.สวายจีก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้รวมตัวกันถือป้ายประท้วงที่หน้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สวายจีก เพื่อแสดงพลังคัดค้านไม่ให้ อบต.อนุญาตให้บริษัทเอกชนก่อสร้างโรงงานผลิตแอสฟัลติกคอนกรีตหรือยางมะตอยในพื้นที่หมู่บ้าน เนื่องจาก อบต.มีอำนาจอนุญาตในการก่อสร้างอาคาร จากที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้พากันเดินทางไปยื่นหนังสือร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ และยื่นเรื่องคัดค้านการก่อตั้งโรงงานดังกล่าวที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์มาแล้ว
โดยตัวแทนชาวบ้านที่มาแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างโรงงานผลิตแอสฟัลติกคอนกรีตในครั้งนี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากมีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพร่างกายของคนในพื้นที่ ทั้งจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง น้ำเสีย รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง และพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านด้วย เพราะพื้นที่ที่จะก่อสร้างอยู่ในหมู่บ้าน
นายกู้เกียรติ แกมรัมย์ และ น.ส.นารีย์ ชัยชุมพล ตัวแทนชาวบ้านที่มายื่นหนังสือค้านการอนุญาตสร้างโรงงานแอลฟัลติกหรือยางมะตอย บอกว่า หากมีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานแอสฟัลติกใกล้หมู่บ้านจะก่อให้เกิดมลภาวะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน จึงได้พากันออกมาเรียกร้องคัดค้านให้ระงับการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในพื้นที่ อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยได้เล็งเห็นถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วย ซึ่งการมายื่นเรื่องร้องครั้งนี้ขอคำตอบภายใน 15 วัน หากไม่มีความคืบหน้าก็จะเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายชลิต อุตสาห์รัมย์ นายก อบต.สวายจีก ได้กล่าวภายหลังมารับเรื่องร้องคัดค้านจากตัวแทนชาวบ้านว่า ทาง อบต.มีอำนาจหน้าที่เรื่องการอนุญาตก่อสร้างอาคารภายใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ส่วนการอนุญาตโรงงานต่างๆ เป็นอำนาจของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แต่อย่างใดก็ตาม หลังจากมีชาวบ้านมาร้องคัดค้านทาง อบต.จะทำเรื่องระงับการก่อสร้างไว้ก่อน และจะทำเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งอาจจะมีการเปิดเวทีประชาคมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าทาง อบต.ทำหน้าที่ แต่ก็เล็งเห็นถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวบ้านเป็นสำคัญ