พิษณุโลก - ดีเอสไอออกโรงเตือน..พบแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่โผล่พิษณุโลก โชว์กินหรู-อยู่เริ่ด เข้าสังคมไฮโซ ลวงลงทุนโหลดแอปฯ ร่วมล่าสัตว์ แลกผลตอบแทนตั้งแต่ 7-30% แต่เขียนโปรแกรมบล็อกให้เหยื่อชนะเฉพาะช่วงแรกก่อนกินรวบทั้งกระดาน
ขณะนี้ชาวพิษณุโลกหลายรายกำลังถูกชักชวน บางหลายหลงกลร่วมลงทุน “แชร์ลูกโซ่” รูปแบบใหม่ที่มาในลักษณะเกมนักล่าสัตว์ หรือนักเลี้ยงสัตว์
ซึ่งแก๊งแชร์ลูกโซ่กลุ่มนี้มักแต่งกายดีมีรสนิยม สวมเสื้อผ้าแบรนด์เนม ขับรถยุโรป ทะเบียนเลขสวย พรางตัวเข้าไปในสังคมไฮโซพิษณุโลก รวมทั้งใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการโพสต์ภาพใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ประจำวันมีแต่เรื่องสวยงามฟุ้งเฟ้อ เที่ยว-กินตามร้านอาหาร หรือร้านกาแฟชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อสร้างภาพและหาโอกาสตีสนิทผู้ที่พอมีฐานะ
จากนั้นก็ชักชวนเกลี้ยกล่อมเป้าหมายที่เข้าไปตีสนิทจนรู้ถึงฐานะการเงินให้เข้ามาร่วมลงทุนเล่นแชร์นักล่าสัตว์ หรือนักเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสามารถลงทุนได้ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักแสนบาท โดยให้สมัครเข้ากลุ่มไลน์ กลุ่มละ 50 คน ก่อนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันคล้ายกับการเล่นเกมล่าสัตว์ รายได้จะบวกตั้งแต่ร้อยละ 7-30% ของเงินที่ลงทุน เมื่อสามารถจับสัตว์ได้จะมียอดเงินเพิ่มให้อีก
กระทั่งเหยื่อที่หลงเชื่อบางรายทุ่มสุดตัว ให้สมาชิกในครอบครัวนั่งเล่นเกมไล่จับสัตว์กันทั้งวัน ซึ่งตอนแรกสามารถจับได้และมีผลตอบแทน แต่ต่อมาโปรแกรมจะทำให้เล่นยากขึ้น จนไม่เหลือเงินที่ลงทุนไปเนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขของเวลา
ด้านนายพงศธร อินอำนวย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 6 พิษณุโลก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า การชวนลงทุนลักษณะนี้ โปรแกรมเมอร์เป็นคนเขียนโปรแกรมขึ้นมา เข้าข่าย พ.ร.บ.การพนัน การสร้างกิจกรรมเพื่อเป็นการเล่นเกมได้รางวัล ที่เป็นเงินหรือเป็นทรัพย์สินหรือลักษณะ เป็นทรัพย์สินเหมือนการจัดกิจกรรมให้เล่นการพนัน
ซึ่งการเสียค่าสมาชิกเข้าไปเล่นแต่เขียนโปรแกรมบล็อกไว้แล้ว คนเล่นจะไม่มีทางชนะแต่สูญเสียเงินเล่นไป เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน เพราะทำในระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งกลุ่มปิด (ไลน์) หรือกลุ่มเปิด (เฟซฯ) ถือว่ากระทำต่อประชาชน ลักษณะฉ้อโกงประชาชน
และต้องดูผลตอบแทน ถ้าคำนวณแล้วว่าค่าตอบแทนที่เสนอให้เกิน 6% จะเข้ากำหนดการกู้ยืมตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2547 มาตรา 4 มาตรา 5 โดนจำคุก 10 ปี รวมทั้งจะเข้าข่ายการฟอกเงินด้วย ส่วนระบบคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเท็จ โดยโปรแกรมเมอร์ตั้งใจสร้างมาหลอกตั้งแต่แรกมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ
“ใครถูกหลอกไปเล่น สามารถร้องทุกข์ต่อตำรวจได้ในท้องที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด และ DSI ทุกภาค”