xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าอาวาสวัดภูม่านฟ้ายัน! สร้าง “เมืองสีหนคร” ตามจินตนาการ ไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัดกัมพูชา-หวั่นโซเชียลฯ ทำเกิดขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุรีรัมย์ - เจ้าอาวาสวัดภูม่านฟ้า จ.บุรีรัมย์ แจงสร้าง “เมืองสีหนคร” ตามจินตนาการไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัดนครธมตามที่เป็นกระแสดรามาของชาวเน็ตกัมพูชา ด้านวัฒนธรรมจังหวัดฯ รุดตรวจสอบพบก่อสร้างปราสาทหินจริง แต่เป็นการนำจุดเด่นสวยงามของปราสาทต่างๆ มาประยุกต์ผสมผสานกันไม่ได้ก๊อปปี้แบบ ขณะนักวิชาการหวั่นโซเชียลฯ ทำเกิดความขัดแย้ง 2 ประเทศ เหตุเอามิติวัฒนธรรมไปเป็นการเมือง

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพสิ่งก่อสร้างที่ถูกเรียกว่า “อาณาจักรสีหนคร” หรือ “เมืองสีหนคร” ตั้งอยู่บ้านหนองบัวราย ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ในพื้นที่วัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของบุรีรัมย์ในอนาคต แต่ชาวเน็ตในประเทศกัมพูชา กลับออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับลักษณะการออกแบบของสิ่งก่อสร้างดังกล่าว โดยชาวเน็ตกัมพูชาส่วนใหญ่อ้างว่าอาณาจักรสีหนครมีความคล้ายคลึงกับปราสาทนครวัด นครธม ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของโลก ณ ประเทศกัมพูชา จนกลายเป็นกระแสดรามา


ล่าสุดวันนี้ (7 ก.ค.) นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย น.ส.เพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง, พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ศรีเสริม ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.นางรอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ไปยังวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า เพื่อตรวจสอบสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่กำลังกลายเป็นกระแสในสื่อโซเชียลของกัมพูชา โดยจากการตรวจสอบพบว่าภายในวัดพระพุทธบาทศิลาดังกล่าว กำลังมีการก่อสร้างปราสาทหินหลายหลังเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปของทางวัด โดยปราสาทหินแต่ละหลังก็จะมีการแกะสลักลวดลายที่แตกต่างกัน รวมถึงพระมหาเจดีย์ สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากหินทราย

จากการสอบถามพระอาจารย์สมศักดิ์ สังวรจิตโต เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า ชี้แจงว่า การก่อสร้างเมืองสีหนครแห่งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อสร้างปราสาทหินของคนโบราณในอดีต และคนสมัยปัจจุบัน ซึ่งอาจจะแตกต่างกันเพียงเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่นำมาใช้เท่านั้น ทั้งอยากให้เมืองสีหนครแห่งนี้เป็นวัตถุที่สืบทอดให้เห็นถึงเจตนาและความศรัทธาของผู้มีจิตศรัทธาไปอย่างยาวนานถึง 5,000 ปี แต่ยืนยันว่ารูปแบบการก่อสร้างเกิดจากจิตนาการหรือนิมิต ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากสถานที่แห่งใด


ขณะที่ รศ.ดร.สมมาตร์ ผลเกิด นักวิชาการโบราณคดีอิสระ ได้กล่าวภายหลังร่วมเดินทางไปดูการก่อสร้างเมืองสิงหนครที่วัดภูม่านฟ้าว่า กระแสที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียที่ประเทศกัมพูชา เกิดจากการนำเอาความรู้สึกในอดีตมาอ้างอิงในปัจจุบัน ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันจึงนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้การก่อสร้างสถานที่แห่งนี้ถูกโยงไปด้วย นำไปสู่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ดังนั้น การพูดคุยเรื่องเหล่านี้ต้องมองในมิติของวัฒนธรรมไม่มองในมิติทางการเมืองการปกครอง เพราะมิติวัฒนธรรมคือไม่มีอาณาเขต คนในดินแดนกัมพูชาและคนในดินแดนทางอีสานตอนใต้ของไทยมีบรรพบุรุษร่วมกัน ไปมาหาสู่กัน ซึ่งเชื่อว่าในกลุ่มของประชาชนทั่วไปของทั้งสองประเทศที่ไม่ได้ผ่านพื้นที่โซเชียลฯ ก็ยังเป็นพี่เป็นน้องไปมาหาสู่กัน แต่กระแสที่เกิดขึ้นกลับให้สื่อโซเชียลฯ เป็นตัวกำหนดทิศทางเลยทำให้เกิดความไม่เข้าใจที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งกันและกัน

อีกอย่างคือ ภาพที่ถูกนำไปเผยแพร่ค่อนข้างจะแตกต่างจากความเป็นจริง ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้ทางกัมพูชาส่งตัวแทนมาดูพื้นที่จริงว่าการก่อสร้างไม่ได้ลอกเลียนแบบ ส่วนรูปทรงปราสาทหลายๆ แห่งก็จะคล้ายคลึงกันอยู่แล้วซึ่งในประเทศไทยเองก็มีเป็นร้อยๆ ปราสาท จึงไม่ใช่เป็นการเลียนแบบกัมพูชา โดยเฉพาะนครวัด นครธมที่ถูกประกาศเป็นมรดกโลก ก็เสมือนเป็นมรดกของคนทั้งโลก


ทางด้าน นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า จากการลงตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีการก่อสร้างปราสาทหินจริง ซึ่งทางเจ้าอาวาสบอกว่าสร้างขึ้นจากจินตนาการและนิมิตของท่าน โดยนำรูปแบบที่สวยๆ ของแต่ละสถานที่มาประยุกต์ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง หรือบูโรพุทโธ ของอินโดนีเซีย เป็นการนำเอาจุดเด่นของแต่ละที่มาผสมผสานกันให้ดูสวยงาม ไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัดนครธมตามที่ชาวเน็ตกัมพูชาเข้าใจ ซึ่งท่านไม่ได้มีแบบแปลนที่ชัดเจน คือนึกอะไรออกก็ตกแต่งไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างปราสาทหรือศาสนสถานตามสถานที่ต่างๆ นั้น จากการสอบถามไปยังสำนักศิลปากรภาค 10 ก็ให้ข้อมูลมาเบื้องต้นว่า ปกติของไทยไม่ได้มีกฎหมายที่ห้ามก่อสร้างศิลปะเลียนแบบ แต่เพื่อความชัดเจนต้องให้กรมศิลปากรตรวจสอบอีกครั้ง ว่ากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกี่ฉบับและมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงกัน


สำหรับวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า ได้รับอนุญาตให้สร้างเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ปัจจุบันมีพระอธิการสมศักดิ์ สังวรจิตโต เป็นเจ้าอาวาส มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ปัจจุบันได้งดการเข้าชมเนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาด



พระอาจารย์สมศักดิ์ สังวรจิตโต เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า










กำลังโหลดความคิดเห็น