ประจวบคีรีขันธ์ - สัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ช่วยกันผ่าซากวาฬบรูด้า พบเป็นเพศเมีย ยาวกว่า 12 เมตร หนักประมาณ 10 ตัน เบื้องต้น ยังระบุไม่ได้ว่าตายจากสาเหตุอะไร เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการขั้นตอนการผ่า
วันนี้ (1 ก.ค.) นายภัทร อินทรไพโรจน์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งสวมชุดป้องกันเชื้อโรคทำการผ่าพิสูจน์ซากวาฬบรูด้า ซึ่งมีชาวประมงพบลอยอยู่กลางทะเลด้านหลังเกาะทะลุ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 5 กิโลเมตร จุดนั้นน้ำลึกประมาณ 25 เมตร
หลังจากนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงประสานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) นำเรือไปลากซากวาฬบรูด้า กลับมาขึ้นที่ชายหาดต้นตาล ต.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเย็นวานนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นของทีมสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวาฬบรูด้า เพศเมีย ขนาดลำตัวยาว 12.48 เมตร น้ำหนักประมาณ 10 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการตาย คาดว่าน่าจะทราบผลในช่วงบ่ายของวันนี้
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าสำหรับวาฬบรูด้าตัวดังกล่าวก่อนที่จะมีชาวประมงพบวาฬบรูด้าที่ลอยเสียชีวิตอยู่ด้านหลังเกาะทะลุ นั้น ก่อนหน้านั้น 1 วัน มีชาวปะมงพบเห็นลอยอยู่ในท้องทะเลถ้ำธงค์ อ.ประทิว จ.ชุมพร ซึ่งคาดว่าน่าจะถูกกระแสลมและคลื่นซัดไปในพื้นที่ทะเล อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นเขตติดต่อกัน
ด้านนายพุ่ม เบื่องสวาสดิ์ อายุ 69 ปี อดีตชาวประมงอวนล้อม กล่าวว่า ตนเลิกอาชีพประมงมานานนับสิบปี ก่อนหน้านี้ เวลาออกทะเลจะเจอกับวาฬบรูด้าบ่อยครั้ง เคยเจอตัวใหญ่มากถึงประมาณ 14 เมตร ก็รู้สึกเสียดายและเสียใจมาก เพราะวาฬไม่ทำร้ายใคร และมักชอบว่ายน้ำตามเรือ เล่นกับเรือ ตนเห็นรอยช่วงหางถึงกลางตัวคล้ายรอยเชือกขนาดใหญ่ฟาด ถ้ามองตามสายตาชาวประมง คล้ายโดนสลิงฟาด แต่ไม่แน่ชัด ต้องรอให้หมอผ่าพิสูจน์จนเสร็จซึ่งหมอน่าจะรู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยทั้งชาวประมง และนักตกปลามักพบเห็นวาฬบรูด้า และฉลามวาฬทั้งบริเวณเกาะทะลุ และทะเลสามร้อยยอด ซึ่งว่ายเข้ามาหากินลูกปลาและสัตว์น้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ