ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จำนวน 290 ราย เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท ณ ห้องแตรทอง 1 ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง
วันนี้ (28 มิ.ย.) เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูรผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 พร้อมด้วยนายอำเภอบางละมุง และคณะทำงานพิจารณาข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังชั้นที่ 3 โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ
เรือโทกมลศักดิ์ เผยว่า จากกรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีนโนบายการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับเรือตู้สินค้าระหว่างประเทศ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ การขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ทำการศึกษาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ในพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
โดยมาตรการในรายงาน EHIA กำหนดให้มีการชดเชยเยียวยากลุ่มประมงผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังประสงค์จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในลักษณะการจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาให้แก่กลุ่มประมงเรือเล็ก จำนวน 6 กลุ่ม ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 302 ราย โดยจ่ายค่าชดเชยเยียวยาในครั้งนี้จำนวน 290 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,144,699 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบห้าล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันหกร้อยเก้าสิบเก้าบาท) สำหรับอีก 12 ราย จะทำการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาเมื่อได้รับเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
โดยการจ่ายค่าชดเชยเยียวยานั้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี และช่วงระยะเวลาการฟื้นฟู 2 ปี (ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ) รวมระยะเวลาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาจำนวน 6 ปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 780,720,894 บาท (เจ็ดร้อยแปดสิบล้านเจ็ดแสนสองหมื่นแปดร้อยเก้าสิบสี่บาท)
โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นยังจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวจึงได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการชดเชยเยียวยาให้แก่กลุ่มประมงเรือเล็ก ซึ่งอยู่ในชุมชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง