ฉะเชิงเทรา - ผู้ว่าฯ ปูดเองปัญหาโควิด-19 ฉะเชิงเทรา มูลเหตุสำคัญจากแรงงานต่างด้าวที่สัญจรไปมาจากพื้นที่สีแดงไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อวัน จนต้องออกคำสั่งให้ทำการสวอปแรงงานต่างด้าวทุก 14 วัน ป้องกันแพร่เชื้อเพิ่ม
จากกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีมติให้นายจ้างหรือสถานประกอบการต้องทำการสวอป (Swap) แรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุก 14 วัน โดยนายจ้างต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง
โดยมูลเหตุสำคัญมาจากแรงงานต่างด้าวที่สัญจรไปมาจากพื้นที่สีแดงซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10,000 คนต่อวัน จนทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากถึง 14 แห่งในพื้นที่นั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการฉะเชิงเทรา ว่า ปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทรา มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวมากถึง 54,000 คน และยังมีแรงงานต่างด้าวที่เดินทางไปกลับในพื้นที่จังหวัดสีแดงทั้ง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี ในลักษณะของการเดินทางแบบวันต่อวันมากถึง 11,000 คน
ส่งผลให้ทั้งนายจ้างและหน่วยงานด้านสาธารณสุขไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แม้ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเคยมีมติห้ามการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีแล้วก็ตาม
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 33/2564 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงมีมติให้แรงงานที่ต้องเดินทางไปกลับจากพื้นที่สีแดงต้องทำการสวอปหาเชื้อโควิด-19 ในทุก 14 วัน โดยที่นายจ้างหรือสถานประกอบการจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
“จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานจัดหางานจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าฉะเชิงเทรามีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา พม่า และลาว มากถึง 54,694 คน โดยเป็นชาวกัมพูชามากที่สุด รองลงมาคือ พม่า และลาว และยังพบตัวเลขอีกว่าในจำนวนนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมมากถึง 108 แห่งที่มีการใช้แรงงานในลักษณะไปกลับจากพื้นที่สีแดง” นายไมตรี กล่าว
ขณะที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฉะเชิงเทรา เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในพื้นที่วันนี้ (26 มิ.ย.) ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 70 ราย