ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชฉีดวัคซีนทะลุ 1.2 แสนราย พบอาการไม่พึงประสงค์กว่า 1.3 หมื่นราย เร่งสอบสวนโรคกรณีสาววัย 29 ปีเลือดออกในสมองอาการโคม่าหลังรับวัคซีนได้ 2 วัน เข้ารักษาที่ รพ.มหาราชฯ ล่าสุดผ่าตัดสมองแล้วยังไม่รู้สึกตัว ขณะยอดผู้ป่วยรายใหม่ลดพบแค่ 2 รายที่ อ.ปากช่อง ทำงาน รง.ซีพีเอฟ สระบุรี
วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ในฐานะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ผ่านระบบเครือข่ายโปรแกรม ZOOM เพื่อติดตามสถานการณ์และการดำเนินการมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา
โดยที่ประชุมรายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเมษายนในพื้นที่ 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ว่า ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 2 ราย เป็นชาว อ.ปากช่องทั้ง 2 ราย โดยผู้ป่วยทำงานในพื้นที่เสี่ยง (โรงงานแปรรูปไก่ซีพีเอฟ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี) รวมผู้ป่วยสะสม 941 ราย รักษาหายป่วยสะสม 780 ราย เสียชีวิตสะสม 11 ราย คงเหลือรักษาตัว 150 ราย
ขณะนี้ประชาชน จ.นครราชสีมา และบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-1 มิ.ย. 2564 จำนวน 122,374 ราย พบอาการไม่พึงประสงค์ 13,248 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.83 เช่น ปวดศีรษะ เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด ไข้ คลื่นไส้ ท้องเสีย ผื่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน พบอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องรับการรักษาต่อในโรงพยาบาล 143 ราย ผู้ป่วยนอก 124 ราย ผู้ป่วยใน 19 ราย รับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 9 ราย และมีอาการหนักจำนวน 3 ราย สรุปโดยรวมจะพบอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ที่เข้ารับการรักษาใน รพ.นั้น หลังจากนอนพักรักษาได้ประมาณ 3-4 วันก็สามารถกลับบ้านได้
ขณะที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมารายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จำนวน 49 ราย ปอดอักเสบรุนแรง 3 ราย มีอาการรุนแรงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 5 ราย อาการปานกลาง 10 ราย เล็กน้อย 34 ราย และเตียงว่าง 67 เตียง
ส่วนผู้ป่วยที่น่าสนใจพบมีอาการเลือดออกในสมองหรือเส้นเลือดในสมองแตกหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ 2 วัน จากการตรวจสอบไทม์ไลน์พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวอายุ 29 ปี เป็นเพศหญิง เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovac ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2546 จากการรอสังเกตอาการไม่พบความผิดปกติเกิดขึ้น ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. 2546 ผู้ป่วยไปเดินซื้อของในตลาด มีอาการปวดศีรษะ เป็นลมหมดสติ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลปักธงชัย พบว่าเส้นเลือดสมองแตก
จากนั้น 2 ชั่วโมงส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จากการตรวจพบเลือดออกในโพรงสมองบริเวณรอยต่อระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ ซึ่งความผิดปกติเช่นนี้พบไม่บ่อย ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเกิดความผิดปกติมาแต่กำเนิด เกิดภาวะสมองบวมเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คนไข้ไม่รู้สึกตัว และแพทย์ได้ทำการผ่าตัดนำเลือดออกจากสมอง ขณะนี้รักษาเป็นวันที่ 4 แล้ว ผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว หายใจทางท่อช่วยหายใจ ซึ่งทางแพทย์ได้พูดคุยกับญาติและญาติเข้าใจดี จากการตรวจอาการไม่พบความเชื่อมโยงกับการฉีดวัดซีน และจากการศึกษากรณีผู้ป่วยจากต่างประเทศยังไม่เคยพบว่ามีกรณีลักษณะนี้
ด้าน นพ.นรินทร์รัตน์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นทางทีมสอบสวนโรคร่วมกับคณะแพทย์ยังคงค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากว่ากรณีผู้ป่วยรายนี้คาดว่าจะเป็นอาการป่วยตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่แสดงอาการ คนไข้จึงไม่รู้ตัวมาก่อน บางรายก็มาแสดงอาการตอนโต แต่รายนี้เป็นการประจวบเหมาะกับรับวัคซีนมา เราจึงต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน จากนี้ทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจะทำงานร่วมกับทีมควบคุมโรคจากกรมควบคุมโรคในการตรวจสอบรายละเอียดเพื่อให้ได้ความชัดเจนต่อไป