xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านระยองแจงน้ำใต้ทะเลบ้านฉางเปลี่ยนเป็นสีชมพูเริ่มกระทบการทำมาหากิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระยอง - กลุ่มประมงพื้นบ้านเมืองระยอง แจงเหตุน้ำใต้ท้องทะเลเปลี่ยนเป็นสีชมพูเริ่มกระทบการทำมาหากินหลังหน่วยงานต่างๆ ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ เผยนอกจากปริมาณปูม้าจะลดลงแล้ว ผู้บริโภคยังหวั่นมีสารพิษในอาหารทะเล

จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก น.ส.ประไพ สาธิตวิทยา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงสามัคคีบ้านพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ว่าพบตะกอนประหลาดสีชมพูกระจายอยู่ใต้ท้องทะเล โดยหวั่นว่าจะเป็นสารพิษเนื่องจากมีกลิ่นเหม็นและฉุน

จนเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลโดยเฉพาะปูม้า และสัตว์ที่หากินหน้าดิน นอกจากนี้ ยงเกรงจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอาหารทะเล จึงได้แจ้งไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดระยอง เพื่อให้เข้าเก็บตัวอย่างตะกอนสีชมพูไปตรวจสอบหลังพบกระจายตัวเป็นวงกว้างใต้ทะเลระยะห่างจากชายฝั่งด้านสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 2-3 ไมล์ทะเลนั้น

วันนี้ (14 พ.ค.) พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1(ผอ.ศรชล.ภาค 1) ได้มอบหมายให้ นาวาเอกอนุพงค์ จันทร์พฤกษ์ รอง ผอ.ศรชล.จว.รย. บูรณาการร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดระยอง

สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 และสำนักงานควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่บริเวณหาดพลา อ.บ้านฉาง เพื่อหาที่มาของการพบตะกอนสีชมพูใต้ท้องทะเล


หลังผลการทดสอบตัวอย่างน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดระยอง ได้เก็บไปตรวจสอบก่อนหน้านี้ ระบุว่า ผลการตรวจวิเคราะห์จากตัวอย่างน้ำทะเลขวดที่ 1 ซึ่งเป็นน้ำทะเลที่ได้จากการกู้อวนของชาวประมง พบว่า มีผลตรวจค่าความเค็มที่ 32 ส่วนในพันส่วน

ขณะที่ตะกอนที่มีสีชมพู มิได้เกิดจากแพลงก์ตอนพืชที่ตายแล้วเนื่องจากพบเซลล์แพลงก์ตอนพืชในปริมาณน้อย

ส่วนผลการตรวจในขวดที่ 2 ซึ่งเป็นน้ำทะเลบริเวณผิวน้ำที่ชาวประมงพบตะกอนสีชมพู มีค่าความเค็มที่ 32 ส่วนในพันส่วน และ
มีการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่ม Diatom หรือสาหร่ายสีน้ำตาล ชนิดเด่นที่พบมีปริมาณความหนาแน่น

จึงทำให้น้ำมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล ไม่มีกลิ่นเหม็นแต่มีตะกอนน้ำตาล และพบซากเซลล์ของแพลงก์ตอนพืชที่ตายแล้วจำนวนมาก


จึงสรุปผลการตรวจคุณภาพน้ำบริเวณพื้นท้องทะเลและบริเวณผิวน้ำทะเลว่า แพลงก์ตอนพืชที่มีการสะพรั่งในบริเวณดังกล่าวมิได้มีทำให้น้ำมีลักษณะเป็นสีชมพู และจากการลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ในวันนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นได้

ขณะที่กลุ่มประมงพื้นบ้านได้ทดลองนำอวนปูไปวางไว้บริเวณพิกัดเดิม เป็นเวลานาน 3 วันซึ่งยังพบตะกอนอยู่เช่นเดิม แต่ที่น่าสงสัยคือปริมาณปูม้าที่เริ่มหายไปเป็นจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวประมง

อีกทั้งยังต้องเจอกับกระแสความหวาดกลัวของผู้บริโภคเกี่ยวกับสารพิษในอาหารทะเล ซึ่งในเบื้องต้น กลุ่มประมงยังคงข้อให้เจ้าหน้าที่เร่งหาข้อสรุปที่แท้จริงเพื่อสร้างความกระจ่างแก่สังคมต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น