เชียงใหม่ - เชียงใหม่ประกาศยกเลิกหลายกิจกรรมสงกรานต์ ทั้งทำบุญตักบาตรครบรอบ 725 ปี ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ และขึ้นปีใหม่ไทย 2564 รวมทั้งพิธีการอัญเชิญสมโภชและขบวนแห่พระพุทธสิงหิงค์ ส่วนที่เหลือยังจัดได้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเหมาะสมและเข้มงวดตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อเพิ่ม
วันนี้ (11 เม.ย. 64) นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายเสน่ห์ สายเย็นใจ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, นางปริษา ปานพรหม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ และนางนุสรา ยันตรโกวิท ปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงชี้แจงเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดงานประเพณีปีใหม่เมืองจังหวัดเชียงใหม่ประจำปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำเป็นต้องทำการยกเลิกและงดบางกิจกรรม รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมบางอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อป้องกันการแพร่และติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยยังคงรักษาสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามไว้ ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มงวด งดเว้นการเล่นสาดน้ำ ประแป้ง และการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก แม้กระทั่งการไปทำบุญที่วัดหรือดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ หากเป็นไปได้ขอให้งดเว้น และหากมีความจำเป็นให้สวมใส่หน้ากากป้องกันตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และใช้เวลาไม่นาน
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ วานนี้ (10 เม.ย.) มีมติให้ยกเลิกงานประเพณีสมโภชพระพุทธสิหิงค์ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ในวันที่ 11 เม.ย. และยกเลิกขบวนแห่ในวันที่ 13 เม.ย. ขณะเดียวกัน ให้ยกเลิกพิธีทำบุญตักบาตรครบรอบ 725 ปี การก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ที่ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ วันที่ 12 เม.ย. พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกิจกรรมยอสวย ไหว้สา พระญามังราย ซึ่งกำหนดจัดวันที่ 12 เม.ย. โดยให้งดขบวนฟ้อน เหลือเพียงการถวายเครื่องสักการะที่ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ส่วนพิธีขอขมาและบวงสรวงเศียรท้าวกบิลพรหมองค์มหาสงกรานต์ ในวันที่ 12 เม.ย. ที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นการจัดเป็นการภายใน นอกจากนี้ให้ยกเลิกพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2564, พิธีเปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2564 และการการประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง รอบตัดสิน ที่กำหนดจัดในวันที่ 13 เม.ย.ที่ประตูท่าแพทั้งหมด เช่นเดียวกับพิธีสักการะกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ในวันที่ 17 เม.ย. ที่วัดสวนดอก ขณะที่ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ที่กำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. ได้ยกเลิกเช่นกัน เหลือเพียงพิธีทางสงฆ์เท่านั้น