xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” ลงพื้นที่เกาะล้านดำน้ำดูแนวปะการัง ก่อนวางแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-Sea Walker

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - “วราวุธ” ลงพื้นที่เกาะล้าน ดูแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อนดำน้ำสำรวจแนวปะการัง ขณะเดียวกัน ยังวางแผนจัดการกิจกรรม Sea Walker สั่ง “กรมทะเล” หารือทุกภาคส่วนเน้นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

จากกรณีที่มีกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองพัทยา เปิดบริการนำนักท่องเที่ยวเดินท่องใต้ทะเลในรูปแบบ Sea Walker จนทำให้มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มโพสต์ภาพขณะจับปะการังและสัตว์ทะเลเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องเร่งตรวจสอบและดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิ ก่อนร่วมหารือกับเมืองพัทยา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงความสมบูรณ์นั้น

วันนี้ (3 เม.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา เดินทางลงพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน จ.ชลบุรี เพื่อตรวจดูสภาพการท่องเที่ยวและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยเล็งเห็นว่า เกาะล้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ และยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก

แต่กลับพบว่ายังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ยังมี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายวุฒิศักดิ์ สิงหเดโช นายอำเภอบางละมุง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางด้วย


เบื้องต้น ได้เข้ารับฟังรายงานการบรรยายสรุปเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสีย ชุมชนบ้านเกาะล้าน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม และทะเลให้ปลอดจากปัญหามลพิษทางน้ำ โดยพบว่าปัจจุบันเกาะล้าน มีโรงบำบัดน้ำเสียในระบบการเติมสารชีวิภาพบำบัดและผ่านระบบ RO จำนวน 2 แห่งคือ ที่บริเวณชายหาดตาแหวน และชายหาดแสม

ขณะที่การรองรับการบำบัดน้ำจากชุมชนกว่า 700 หลังคาเรือนยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสำรวจ ศึกษา และออกแบบของเมืองพัทยา เพื่อให้มีการจัดทำระบบที่ครอบคลุมพื้นที่เกาะล้าน

จากนั้นยังเดินทางไปสำรวจการจัดการขยะบนเกาะล้าน หลังมีปัญหาขยะตกค้างจำนวนมาก ซึ่งเมืองพัทยาชี้แจงว่าปัญหาขยะตกค้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 จากเรือขนถ่ายชำรุดเสียหายจนทำให้มีปริมาณขยะตกค้างสะสมกว่า 8 หมื่นตัน และถูกนำไปกองทิ้งไว้ในพื้นที่เขานม จำนวนกว่า 12 ไร่

ขณะที่เมืองพัทยาได้เร่งทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขและขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ในการจัดสร้างเตาเผาขยะ จำนวน 2 ชุด ซึ่งปัจจุบันได้ผู้รับจ้างภาคเอกชนเข้าดำเนินการในช่วงเดือน เม.ย.นี้แล้ว โดยจะใช้ระบบการเผาทำลายปริมาณวันละ 50 ตัน และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกำจัดขยะค้างเก่าและใหม่ที่เกิดขึ้นประมาณวันละ 20 ตัน จนขยะเก่าหมดลงในระยะเวลา 3 ปี


นายวราวุธ เผยว่า เกาะล้านถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองพัทยาและประเทศ เมื่อดูจากสถิติพก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกาะล้านมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะที่ปัญหาขยะมูลฝอย ทางกรมฯ ได้เสนอเมืองพัทยาให้หาแนวทางในการเผาทำลายขยะด้วยนำพลังงานมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เช่นเดียวกับการประกอบกิจการ Sea Walker ที่ได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายมองเห็นทรัพยากรทางทะเลว่าสำคัญกว่าเรื่องของรายได้จากการท่องเที่ยว จึงกำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง 

รวมทั้งยังได้หารือกับ จ.ชลบุรี เมืองพัทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการออกใบอนุญาตให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและไกด์นำเที่ยว เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน






กำลังโหลดความคิดเห็น