นครปฐม - คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โชว์ความสำเร็จในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมในการผ่าตัดรักษานิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะในช้างเป็นครั้งที่ 2 ของโลก สามารถยืดชีวิตช้างไทย สัตว์คู่บ้านคู่เมืองในอนาคตได้อีก โดยชวนร่วมบุญบริจาคซื้อเครนยกตัวช้างเพื่อการรักษาผ่าตัดครั้งต่อไป
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดแถลงข่าว “ความสำเร็จในการผ่าตัดรักษานิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะในช้างเป็นครั้งที่สองของโลก” โดยมี ผศ.น.สพ.ณัญวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ รศ.น.สพ.อนุชัย ภิญโญภูมิมิทร์ รองอธิการบดี วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกล่าวรายงานและเปิดแถลงข่าว พร้อมด้วยตัวแทนคณะทีมงานผ่าตัดและรักษา ประกอบด้วย รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ อ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.สพ.ญ.อารีย์ ไหลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งได้นำเอานิ่วในถุงน้ำดีในช้างที่ผ่าตัดสำเร็จมาแสดงต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าว
สำหรับการผ่าตัดดังกล่าวเป็นการผ่าตัดช้างพังสายทอง เพศเมีย อายุ 50 ปี ซึ่งถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาที่หน่วยสัตว์ป่าโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ด้วยอาการปวดเกร็งช่องท้อง ซึม ไม่กินอาหาร จากการซักประวัติ พบว่า พังสายทองมีประวัติปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดเกร็งช่องท้องเป็นระยะ และมีประวัติกินน้ำจากแหล่งที่มีหินปูนสูง
นอกเหนือจากนี้ การตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทวารหนักพบก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะพบก้อนนิ่วอุดตันภายในท่อทางเดินปัสสาวะ ร่วมกับช้างไม่สามารถปัสสาวะได้ และมีค่าเลือดที่บ่งบอกการเสียหายของไตสูงกว่าปกติถึง 3-4 เท่า ทางทีมรักษาจึงได้ตัดสินใจทำการผ่าตัดในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
การผ่าตัดครั้งนี้กินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง จนสามารถนำนิ่วออกจากท่อทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ กว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 16 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากถึง 1.7 กิโลกรัม โดยถือเป็นการผ่าตัดนำนิ่วในถุงน้ำดีออกมาได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 2 ของโลก แม้จะผ่าตัดสำเร็จแต่พบว่าร่างกายของ พังสายทอง ยังต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพต่อไป
การผ่าตัดในครั้งนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ ซึ่งได้ส่งบุคลากรเข้ามาร่วมมือในการผ่าตัด โดยสมาคมสหพันธ์ช้างไทยได้มีการประสานความช่วยเหลือรับพายสายทอง จากพัทยา มาทำการรักษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ เผยว่า เราผ่าตัดสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของโลก ซึ่งครั้งแรกที่เคยผ่าตัดสำเร็จเป็นการผ่าตัด พังคำมูล เพศผู้ อายุ 45 ปี เมื่อปี 55 โดยตรวจพบว่ามีนิ่วกระจายเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าลูกแอบเปิล และผลมะนาว จำนวน 162 ก้อน รวมหนักกว่า 8 กิโลกรัม แต่การผ่าตัดพังสายทองครั้งนี้ พบว่าก้อนนิ่วนั้นมีขนาดใหญ่เป็นก้อนเดียว ซึ่งการรักษาอาการที่มารับการรักษานั้นมีอาการหนักซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่การผ่าตัดได้พบอุปสรรคหลายอย่าง
โดยเฉพาะเรื่องเครื่องมือ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ การจะให้นอนผ่านั้นเป็นอันตรายต้องมีการว่าจ้างรถเครนมาทำการยกร่างของพังสายทองเพื่อทำการผ่าตัด โดยใช้เวลามากและต้องมีการระดมความสามารถของทีมแพทย์ กระทั่งสามารถดึงเอาก้อนนิ่วออกมาได้สำเร็จ โดยต้องใช้วิธีการฝังเข็มในการลดอาการปวด เนื่องจากเกรงว่าการใช้ยากับพังสายทอง จะมีอันตราย การระดมความรู้ความสามารถจึงได้รับการประสานงานจนได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในครั้งต่อไปด้วย
รศ.น.สพ.ดร.นิกร กล่าวต่อว่า หลังจากที่ตนเองได้โพสต์เรื่องดังกล่าวออกไป มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในวงการสัตวแพทย์ ยิ่งในต่างชาติได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และได้รับการทาบทามให้มีการเขียนหนังสือเพื่อนำเป็นองค์ความรู้ไปเผยแพร่ในต่างประเทศแล้ว และความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จของวงการสัตวแพทย์ไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการช้างไทย ที่มีประวัติคู่กับบ้านเมืองเรามาอย่างยาวนาน ซึ่งการรักษาให้ช้างที่ได้รับความทุกข์ทรมานให้พ้นจากความเจ็บป่วยถือเป็นเป้าหมายที่คณะทำงานมีความสุขที่ได้ช่วยชีวิตของช้างไทยในวันนี้และอนาคตได้ต่อไป
รศ.น.สพ.ดร.นิกร กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรคใหญ่ในการรักษาช้างทุกวันนี้ ยอมรับว่ายังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่ง เฉพาะการรักษา พังสายทอง ครั้งนี้ต้องใช้เงินไม่น้อย ทั้งเรื่องของอาหาร ยา และอุปกรณ์ในการผ่าตัด ซึ่งที่พบครั้งนี้คือ การนำรถเครนมายกร่างของพังสายทอง เพื่อทำการผ่าตัด พบว่ากว่าจะนำรถเข้ามาได้มีความเสี่ยงทั้งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ รวมถึงพังสายทอง เพราะอาคารที่ใช้รักษาและผ่าตัดไม่มีระบบลอกและเครนเพื่อยกตัว ซึ่งการดูแลค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุน จากกองทุนรักษาช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถร่วมทำบุญในการจัดหาอุปกรณ์ในการติดตั้งเครนและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ได้ผ่านหมายเลขบัญชี 769-200562-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเงินทั้งหมดนำมาใช้ในการดูแลรักษาสัตว์ป่าของเราต่อไป