ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งประหารชีวิต “สมคิด พุ่มพวง” ฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง รัดคอทรมานสาวใหญ่ชาว อ.กระนวน ตายอย่างอนาถคาบ้านพัก ทั้งที่เพิ่งออกคุกได้ไม่ถึงปี ชี้ พฤติกรรมจำเลยเป็นภัยต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ฆาตกรรมเหยื่อผู้บริสุทธิ์รวมต่างกรรมต่างวาระมากถึง 6 คดี ไม่มีเหตุให้ปรานี
จากกรณีเหตุการณ์ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องอันสะเทือนขวัญเมื่อปลายปี 2562 นายสมคิด พุ่มพวง หรือ “เดอะริปเปอร์เมืองไทย” ที่เพิ่งพ้นโทษฆ่าได้ไม่ถึงขวบปี ได้ก่อเหตุฆ่าสาวใหญ่ชาวอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น นางรัศมี (สงวนนามสกุล) อายุ 51 ปี นอนเสียชีวิตในบ้านพักพื้นที่ อ.กระนวน โดยพบศพผู้ตายช่วงเย็นวันที่ 15 ธันวาคม สภาพถูกห่อด้วยผ้าห่ม ท่อนล่างเปลือย ส่วนท่อนบนสวมเพียงเสื้อยืด บริเวณลำคอถูกพันด้วยเทปใส ที่ข้อเท้าถูกมัดด้วยสายชาร์จโทรศัพท์ ร่างกายไม่มีร่องรอยการถูกทำร้าย ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ และไม่มีร่องรอยการรื้อค้นสิ่งของในบ้านแต่อย่างใด คาดว่าผู้ตายอาจถูกฆ่าขณะนอนหลับ ก่อนขโมยเอาทรัพย์สินมีค่าของผู้ตายหลบหนีไป
ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม ปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 3 ได้ติดตามจับกุมตัวนายสมคิด ได้บริเวณสถานีรถไฟปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะพรางตัวนั่งรถไฟจากจังหวัดสุรินทร์เข้าสู่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ล่าสุด มีรายงานข่าวจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ศาลจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงผลการพิพากษาของศาลสั่งตัดสินประหารชีวิต นายสมคิด พุ่มพวง โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำ เลขที่ 87/2563 หมายเลขแดงที่ 174/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นกับนายสมคิด พุ่มพวง จำเลย
คดีนี้ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) (5), 334 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ลงโทษประหารชีวิต ฐานลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี
สำหรับความผิดฐานซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ หรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตาย หรือสาเหตุแห่งการตาย และฐานเป็นการกระทำใดๆ ต่อศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำพรางคดี เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ วรรคสอง
อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 เดือน ฐานลักทรัพย์ เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 3 ปี ฐานเป็นการกระทำใดๆต่อศพฯ เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 16 เดือน สำหรับฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ เนื่องจากศาลลงโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุดแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีก
จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนในครั้งแรก เพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ คำรับสารภาพดังกล่าว ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเพียงกลวิธีในการต่อสู้คดีของจำเลย เพื่อให้ศาลพิจารณาลดโทษให้เท่านั้น ประกอบกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย ได้กระทำต่อเนื่องในลักษณะเดียวกัน รวมคดีนี้ด้วยถึง 6 คดี
หลังจากจำเลยพ้นโทษจากคดีทั้ง 5 คดีก่อนนั้น เป็นเวลาเพียง 6 เดือนเศษ จำเลยยังกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีก โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่สำนึกในการกระทำความผิด ขาดความเมตตาปรานี สร้างความสูญเสียแก่สุจริตชน และเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดกระทงอื่นของจำเลยมารวมได้อีก คงให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว ริบของกลาง