นครปฐม - จังหวัดนครปฐม ร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าเต็มตัวผลักดันเข้าร่วมเครือข่าย unesco เปิดตัวโครงการพัฒนาจังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์สาขาดนตรี นำดนตรียกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ทั้งการท่องเที่ยว ความบันเทิง รวมถึงการพัฒนาสู่ด้านการแพทย์ โดยเตรียมสร้างนวัตกรรมใหม่ นำ AI เข้ามาใช้อย่างจริงจัง
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดได้มีการเปิดตัวโครงการพัฒนาจังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์สาขาดนตรี (Creative City of Music) โดยจังหวัดนครปฐม และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองนครปฐม เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาดนตรีของ UNESCO ซึ่งจังหวัดนครปฐมได้มีการศึกษาเกณฑ์การเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายของจังหวัดที่เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ
โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ให้การสนับสนุนข้อมูลการถอดบทเรียนการเสนอกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ในปี 62 จึงเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาจังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์ สาขาดนตรีขององค์การ UNESCO ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา
โดยมีการประเมินศักยภาพความพร้อมของจังหวัดนครปฐม ที่มีทรัพยากรพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองสำคัญสืบทอดมาแต่โบราณ ทั้งศิลปินเพลงพื้นบ้าน ลำตัด ตระกูลนักดนตรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในสาขาดนตรี 3 แห่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีมาตรฐานระดับนานาชาติ มีหอประชุมมหิดลสิทธาคาร ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเป็นเลิศด้านคุณภาพการสะท้อนเสียงที่ดีเยี่ยม มีการจัดกิจกรรมดนตรี ระดับชาติและนานาชาติตลอดทั้งปี
อีกทั้งมีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมดนตรีแบบนอกห้องเรียน กิจกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย กิจกรรมดนตรีบำบัดเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงศักยภาพความพร้อมของจังหวัดนครปฐม ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาดนตรีของไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายสร้างบุคลากรและองค์ความรู้ ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาและต่อยอด ซึ่งเด็กรุ่นใหม่จะเป็นรุ่นที่สานต่อทางด้านดนตรี ซึ่งนักดนตรีในคณะดุริยางคศิลป์มีบุคลากรที่มีความสามารถซึ่งจะนำความรู้ทางด้านดนตรีไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะทำให้ดนตรีในหลายรูปแบบ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้ดนตรีที่ทำให้การก้าวร้าวของคนลดลง ขณะเดียวกัน นำดนตรีมาใช้ในศาสตร์ของการบำบัดทางด้านการแพทย์ และมีนวัตกรรมต่างๆ ที่จะมีการพัฒนาเป็นระบบของ AI ที่จะยังเอื้อประโยชน์และสร้างประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ดีขึ้นในอนาคตอีกต่อไป