บุรีรัมย์ - เสี่ยเจ้าของธุรกิจอุปกรณ์พลาสติกผันชีวิตวัยเกษียณทำเกษตรปลอดสารพิษที่บุรีรัมย์ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานด้านเกษตรแต่ขวนขวายศึกษาเรียนรู้แล้วลงมือทำเองทุกขั้นตอน จนประสบผลสำเร็จผ่านการรับรอง GAP มีผลผลิตคุณภาพไร้สารขายต่อเนื่อง ทั้งหวังให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ต่อยอดสร้างอาชีพและขยายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
วันนี้ (25 มี.ค. 64) นายนิเวศ ไกรปัญญาพันธ์ อายุ 66 ปี อดีตเจ้าของทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์พลาสติกที่ จ.ขอนแก่น ได้ผันชีวิตวัยเกษียณหันมาทำการเกษตรปลูกผักและผลไม้ปลอดสารพิษ “สวนปลาทอง” ที่บ้านหนองติ้ว ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ หวังลดความเครียดจากการแก่งแย่งแข่งขันธุรกิจที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในตัวเมือง ให้ได้ผ่อนคลายและสูดอากาศที่บริสุทธิ์เพื่อสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้น โดยนายนิเวศได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 9 ไร่ให้เป็นโรงเรือนสำหรับปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ มะเขือเทศเชอรี่ เมลอน ข้าวโพด และองุ่น ทุกอย่างจะปลูกในโรงเรือนเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษา ลดความเสี่ยงจากโรค และแมลงต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ส่วนปุ๋ยจะใช้มูลสัตว์ในการบำรุง
หลังจากเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 7 แล้ว มีผลผลิตปลอดสารพิษที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP หมุนเวียนจำหน่ายแกาพ่อค้าแม่ค้าตลาดตลอดทั้งปี บางคนก็มารับซื้อถึงสวน ถึงแม้กำไรจะไม่มากเท่ากับการทำธุรกิจพลาสติกแต่ก็มีความสุข ถือว่าประสบผลสำเร็จเพราะกำไรชีวิตคือสุขภาพร่างกายที่ดี จึงอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรสำหรับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่สามารถเข้ามาชมและศึกษาได้
โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และตั้งใจว่าจะขยายพื้นที่สวนปลาทองแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจะนำสัตว์น้ำ สัตว์บกมาเลี้ยงเพิ่มเติม รวมถึงทำชอปจำหน่ายผลผลิตจากสวนทั้งแบบสด และที่แปรรูปแล้ว รวมถึงจุดเช็กอิน และจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มอีกด้วย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยว ประชาชน และผู้ที่สนใจได้เข้ามาเที่ยวพักผ่อนและมีเวลาได้ศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตร คาดว่าจะแล้วเสร็จและรองรับนักท่องเที่ยวได้ช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ แต่ช่วงนี้สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมได้
นายนิเวศยังบอกอีกว่า ที่จริงตังเองไม่ได้มีพื้นฐานเกี่ยวกับการเกษตรเลยเพราะทำธุรกิจมาตลอด แต่เมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจแล้วก็พยายามขวนขวายหาความรู้จากผู้ที่รู้จริงมีประสบการณ์ด้านการเกษตร เช่น การปลูกผักก็ไปเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน องุ่นเรียนรู้จากโครงการหลวง วิธีการปลูกเมลอนก็ไปศึกษากับแหล่งปลูกเมลอนจากคนที่ประสบผลสำเร็จแล้ว โดยช่วงที่ไปศึกษาเรียนรู้จะลงมือทำเองทุกขั้นตอน จนสามารถนำองค์ความรู้มาทำของตัวเองได้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว แต่ยังไม่หยุดหาความรู้เพิ่มเติม
“หวังว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้สำหรับผู้ที่สนใจด้านการเกษตร เพื่อจะได้นำไอเดียหรือองค์ความรู้ไปต่อยอดในการทำการเกษตรของตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านการเกษตรจะได้มีแรงบันดาลใจที่จะหันมาประกอบอาชีพเกษตรเพื่อสร้างรายได้ และใช้ชีวิตแบบมีความสุขอยู่กับครอบครัว” นายนิเวศกล่าวในตอนท้าย