xs
xsm
sm
md
lg

มะม่วงไทยทะลัก! แปลงใหญ่อุทัยธานีเร่งเก็บส่งออก-ชาวสวนสากเหล็กขายออนไลน์-ออฟไลน์ผ่าน ปณ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี/พิจิตร - ชาวสวนมะม่วงไทยคึกคัก หลังตลาดเริ่มฟื้นจากพิษโควิด..เกษตรกรแปลงใหญ่อุทัยฯเร่งเก็บมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคัดแยกส่งออก-ขึ้นห้างฯ-ป้อนตลาดผลไม้ ด้านชาวสวนสากเหล็กขายทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ผ่านไปรษณีย์ทั่วไทย


หลังตลาดส่งออกมะม่วงไทยเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วงหลายพื้นที่เริ่มเก็บผลผลิตคัดแยกกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ อ.ทัพทัน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่เข้าร่วมโครงการเกษตรกรแปลงใหญ่มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices : GAP) รวมเนื้อที่หลายพันไร่ ต่างพากันเร่งเก็บมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเตรียมส่งออกจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

นายอำพัน ล้อจงเฮง อายุ 69 ปี หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนมะม่วงแปลงใหญ่ ถือว่าเป็นผู้ที่บุกเบิกเริ่มต้นการทำสวนมะม่วงเป็นเจ้าแรกๆ ของ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี บอกว่าประกอบอาชีพทำสวนมะม่วงน้ำดอกไม้นี้มานานกว่า 40 ปี ในเนื้อที่ 31 ไร่ มีทั้งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 คัดแยกผลผลิตส่งออก ส่งห้างฯ และส่งขายตลาดผลไม้ทั่วไป

โดยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่มีเปลือกและเนื้อที่แข็งกว่าและไม่ช้ำง่าย จะส่งออกและขึ้นห้างฯ เป็นหลัก แต่ปีนี้ยังไม่รู้ราคาที่แน่ชัด เพราะเพิ่งเริ่มเก็บผลผลิตคัดแยกและบรรจุให้ทำการตรวจสอบสินค้าก่อนทำการส่งออก แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาส่งออกที่ได้มาคือกิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 จะมีเปลือกบางและเนื้อหวานฉ่ำ ขายตลาดทั่วไปราคากิโลกรัมละ 35 บาท

นายอำพันกล่าวว่า ปีนี้เพิ่งเริ่มทำการเก็บผลผลิตกันได้ เพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกช้า จากปกติจะสามารถเก็บมะม่วงส่งขายได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ประกอบกับช่วงปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีการส่งออก ซึ่งตอนนี้เริ่มกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง จึงหวังว่าให้ฤดูกาลนี้จะสามารถส่งออกมะม่วงไปจำหน่ายให้กับประเทศต่างๆ ได้ตามที่หวังไว้

โดยตอนนี้ชาวสวนมะม่วงทุกรายต่างก็เร่งทำการเก็บผลผลิตที่มีออกมาคัดแยกและบรรจุลังส่งไปยังศูนย์กลางแปลงใหญ่ที่จะมีบริษัทส่งออกเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ข้อดีของการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ก็คือ อย่างน้อยเรามีตลาดรองรับ แม้จะยังอยู่กับวงจรพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคากันเองได้ เนื่องจากในพื้นที่ของเรานั้นยังไม่สามารถที่จะทำการเก็บผลผลิตได้ตลอดช่วงตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ แต่ก็ยังดีกว่าที่แต่ละสวนไม่ต้องวิ่งหาตลาดกันเอง และไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตจะขายไม่ออกจนเหลือทิ้งเสียหาย ขอแค่ดูแลผลผลิตให้ดีมีคุณภาพก็พอ ยังไงก็ขายได้แน่นอน


“ปีนี้หากไม่เกิดภัยแล้งหนักซ้ำ และไม่หยุดการส่งออกกระทันหัน ทุกสวนจะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ดีอย่างแน่นอน แต่ก็อยากรัฐบาลช่วยให้ความสำคัญกับชาวสวนที่ปลูกมะม่วงบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวสวนนั้นไม่เคยได้สิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากทางรัฐเลย ไม่ว่าจะแล้งผลผลิตไม่ออก เกิดเพลี้ยระบาด หรือปัญหาใดก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ นอกเสียจากเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ไฟไหม้ ถึงจะได้เงินช่วยเยียวยา”

ด้าน น.ส.ศศิกัญญา ล้อจงเฮง กล่าวว่า ช่วงนี้ที่สวนก็เร่งเก็บมะม่วงคัดแยกบรรจุเพื่อเตรียมส่งออก ขึ้นห้างฯ และส่งขายตลาด เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า หากฤดูกาลนี้ไม่ประสบปัญหาใดๆ ก็น่าจะสร้างรายได้เป็นอย่างดี อย่างสวนที่ตนทำกับพ่อ จำนวน 31 ไร่นั้น ปกติก็จะมีรายได้ประมาณ 700,000 บาท สูงสุดที่ 1,000,000 บาทต่อฤดูกาล


ด้านชาวสวนมะม่วงบ้านวังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ที่มีผลผลิตทั้งมะม่วงกินดิบฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด-มะม่วงกินสุกเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท” ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันนี้ (13 มี.ค.) ก็เริ่มขายออฟไลน์ผ่านไปรษณีย์ไทยทุกสาขาทั่วประเทศแล้ว (รับพรีออเดอร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564) เป็นต้นไป และได้รับของวันที่ 13 มี.ค. 64 ในราคาเกรด A 50 และ 70 บาท/กล่อง

นายสายันต์ บุญยิ่ง นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย เกษตรกรอยู่ใน ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ปีนี้สถานการณ์โควิดยังคงส่งผลต่อการส่งออกมาก จากที่เคยส่งไปประเทศมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย มีออเดอร์จำนวนมากแต่ปีนี้ยอดลดฮวบ อดีตเคยขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้ กก.ละ 60 บาท สูงสุดถึง กก.ละ 80-150 บาท แต่ปีนี้เหลือแค่ 30-40 บาท/กก.เท่านั้น แถมมะม่วงคู่แข่งก็ออกพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้มีปริมาณมาก ราคาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจึงถูกลง

ทางเลือกทางรอด คือ เกษตรกรต้องปรับตัวด้วยวิธีการขายแบบออนไลน์ ขอร้องคนไทยด้วยกันเองให้ช่วยกิน ช่วยซื้อ ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ชาวสวนจะคัดเอาเฉพาะมะม่วงที่แก่จัด 95% มีสีสันที่สวยงาม รสชาติอร่อย เริ่มสั่งวันที่ 1 มี.ค. 64 ส่งผลผลิตให้ผู้ซื้อในวันที่ 13 มี.ค. 64 เมื่อได้รับของเก็บไว้ได้ 3-4 วัน ก็จะสุกน่ากินเลยทีเดียว




กำลังโหลดความคิดเห็น