เชียงราย - พิรุธ..กฟก.นำชาวนาเชียงรายร้องศูนย์ดำรงธรรมฯ หลัง ธ.ก.ส.ขายทอดตลาดที่นามรดกตกทอดทั้งที่อยู่ระหว่างเคลียร์หนี้ตามมติ ครม. แถมพบคนซื้อจ่ายแค่มัดจำพร้อมขอขยายเวลาชำระแต่ปักป้ายประกาศขายทันที
วันนี้ (9 มี.ค. 64) นายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จ.เชียงราย ได้นำนายณรงค์ เทพวงศ์ อายุ 56 ปี ชาวนาสมาชิก กฟก. เข้าพบเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีที่นา 19 ไร่ถูกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเชียงราย ขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูโดย กฟก.
นายนิยม และนายณรงค์ได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับที่ดินเป็นนาข้าวพื้นที่ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย 2 แปลง แปลงละ 10 ไร่ และ 9 ไร่ พร้อมเอกสารมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ม.ค. 2550 เรื่องการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินของเกษตรกร เอกสารของ ธ.ก.ส.ที่ให้ดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว เอกสารการขายทอดตลาดที่ดินทั้งหมดของ ธ.ก.ส. และสำนักงานบังคับคดี ฯลฯ
นายนิยมกล่าวว่า สมาชิกรายนี้ได้เข้าสู่ระบบ กฟก.ตั้งแต่ปี 2553 เพราะเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.สาขาจันจว้า อ.แม่จัน จำนวนประมาณ 470,000 บาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนประสานขอชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าในปี 2562-2563 ได้รับแจ้งว่าจะมีการขายทอดตลาดที่ดินจึงแจ้งให้ทาง กฟก.ได้รับทราบ และทาง กฟก.ก็แจ้งถึง ธ.ก.ส.สาขาเชียงราย และตัวชาวนาก็ไปยื่นคัดค้านเพื่อให้ชะลอตามขั้นตอนมาตลอด
แต่ปี 2564 ปรากฏว่าไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการขายทอดตลาด และมาทราบภายหลังว่าถูกขายทอดตลาดไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ชาวนารายนี้ประสบความเดือดร้อนเพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน และตนยังสงสัยเพราะตามระเบียบวิธีปฏิบัตินั้นทาง กฟก.จะปฏิบัติตามมติ ครม.ที่มีแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน 3 ข้อ คือ 1. เรื่องที่ยังไม่ได้ฟ้องร้องให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน 2. หากฟ้องร้องและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน และ 3. หากถึงขั้นต้องขายทอดตลาดทรัพย์สินเกษตรกรก็ให้ชะลอไว้ก่อน
นายนิยมกล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนและให้ทาง กฟก.ปฏิบัติไปพร้อมๆ กับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธ.ก.ส. และที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา แต่ครั้งนี้กลับฝ่าฝืนมติ ครม.และไม่สอดคล้องกับระเบียบภายในของ ธ.ก.ส.เองที่มีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามมติ ครม.ทั้ง 3 ข้อดังกล่าว
ที่ผ่านมาทาง กฟก.จึงทำหนังสือถึง ธ.ก.ส.สาขาจันจว้า ให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อนมาแล้ว แต่เมื่อทราบว่าไม่ได้มีการงดแต่กลับได้ขายทอดตลาดที่ดินของเกษตรกรรายนี้ไปแล้ว จึงได้ทำหนังสือถึง ธ.ก.ส.สาขาใหญ่ที่ จ.เชียงราย ขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เพราะในกระบวนการขายทอดตลาดยังไม่สิ้นสุด
“ผู้ที่เข้าซื้อที่ดินดังกล่าวได้วางเงินมัดจำที่ดินทั้ง 2 แปลง แปลงละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท จากนั้นได้ประกาศขายพร้อมขยายเวลาการชำระเงินกับสำนักงานบังคับคดีไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้”
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กฟก.ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ธ.ก.ส. โดยได้รับแจ้งเพียงว่าได้ยื่นเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการแล้วเท่านั้น จึงเกรงว่าหากกรณีนี้มีการขายทอดตลาดได้สำเร็จและที่ดินหลุดจากมือชาวนาจะเป็นบรรทัดฐานให้นำไปใช้กับที่ดินของชาวนาที่เป็นสมาชิก กฟก.อื่นๆ ทั่วประเทศได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายยึดตามมติ ครม.ดังกล่าวด้วย
ด้านนายณรงค์กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่แล้ว ต่อมานายนรินทร์ เทพวงศ์ พี่ชายของตนได้เข้าทำประโยชน์และกู้ยืมเงินมาทำนา กระทั่งประสบปัญหาหนี้สินจึงเข้าเป็นสมาชิก กฟก. และเมื่อนายนรินทร์เสียชีวิตตนก็เข้ารับช่วงมรดกนี้ต่อ ปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นา และตนยังมีพี่น้องอีก 5 คนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินผืนนี้
ดังนั้นจึงพยายามรักษาเอาไว้โดยเข้าสู่กระบวนการ กฟก.เพราะหวังว่าจะช่วยเหลือพวกเราได้ และที่ผ่านมาก็ช่วยเหลือได้จริงๆ โดยในปี 2562 และปี 2563 สามารถชะลอการขายทอดตลาดได้ แต่ปรากฏว่าหลังวันขายทอดตลาดไม่กี่วันกลับมีคนนำป้ายประกาศขายที่ดินไปติดเอาไว้บนที่นาของตนทั้ง 2 แปลงรวม 4-5 จุด พอแจ้งไปตามเบอร์โทร.ที่ระบุในป้ายก็ได้รับคำตอบว่าเขาได้เข้าซื้อที่ดินที่ถูกขายทอดตลาดผืนนี้ไปแล้ว ทำให้ตกใจมากเพราะเป็นที่นาผืนเดียวที่มีอยู่หากสูญเสียไปก็คงไม่มีที่ดินทำกินอีก
รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงรายได้รับเรื่องไว้พร้อมตรวจสอบเอกสารต่างๆ โดยรับปากจะดำเนินการให้ตามขั้นตอนต่อไป ขณะที่นายณรงค์ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.แม่จัน เอาไว้ก่อนหน้านี้อีกทางหนึ่งแล้วว่าได้มีผู้นำป้ายไปปักไว้ในที่ดินทั้ง 2 แปลงเพื่อประกาศขาย ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอให้ทางตำรวจช่วยติดตามและหาตัวเจ้าของป้ายเพื่อรื้อถอนออกไป