สุรินทร์ - พบ “ค่างเทา” หรือ “ค่างหงอก” สัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงสูญพันธุ์ พลัดหลงออกจากป่าเข้ามาหากินในพื้นที่ของชาวบ้าน อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ชายแดนไทย-กัมพูชา ถูกไฟฟ้าช็อต นำส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ ดูแลปลอดภัย
วันนี้ (24 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ต.สุรพศ ผมหอม พนักงานสอบสวน สภ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ได้รับแจ้งจาก นายมนูญ แก้มศิริ หมู่ที่ 1 บ้านจรัส ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ว่า พบสัตว์ป่าเป็นค่าง 1 ตัวพลัดหลงออกจากป่าเข้ามาหากินในพื้นที่ของชาวบ้านและถูกไฟฟ้าช็อต เกรงว่าจะเกิดอันตราย ขอให้เจ้าหน้าที่มารับค่างไปดูแลด้วย หลังจากนั้นแจ้งประสานไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บัวเชด เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์เดินทาง มารับค่างตัวดังกล่าว
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าเป็นค่างเทา หรือค่างหงอก สัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 18 พลัดหลงเข้ามาในเขตหมู่บ้านของชาวบ้าน เนื่องจากในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียงอยู่ติดแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ คาดว่าจะพลัดหลงออกจากป่าเข้ามาหากินในสวนของชาวบ้าน เนื่องจากช่วงนี้พื้นที่ป่าเริ่มแห้งแล้ง แต่ในหมู่บ้านมีสวนผลไม้ ค่างจึงออกมาหากิน
นายทิฆัมพร สิงหะ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ได้รับมอบสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 18 ค่างหงอก ตามบันทึกตรวจประจำวันของเจ้าตำรวจ สภ.บัวเชด และตามแบบปฏิบัติของศูนย์ปฏิบัติเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนด้านสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี เพื่อส่งมอบค่างหงอกแก่เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อดำเนินการดูแลรักษาอย่างปลอดภัยต่อไป
ทั้งนี้ ค่างเทา หรือค่างหงอก เป็นค่างชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trachypithecus cristatus จัดเป็นลิงโลกเก่าชนิดหนึ่ง สถานะการอนุรักษ์ เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (ลดลง) Encyclopedia of Life ค่างเทามีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับค่างดำมลายู (Presbytis femoralis) ขนตามลำตัวเป็นสีเทาเข้ม ปลายขนเป็นสีขาวหรือสีเงิน ทำให้แลดูคล้ายผมหงอกของมนุษย์ อันเป็นที่มาของชื่อ บนหัวจะมีขนยาวเป็นหงอนแหลม ใบหน้ามีสีดำไม่มีวงแหวนสีขาวรอบดวงตา มือและเท้าเป็นสีดำ ลูกค่างที่เกิดใหม่ขนตามลำตัวจะเป็นสีเหลืองทอง มีความยาวลำตัวถึงหัว 49-57 เซนติเมตร ความยาวหางประมาณ 72-84 เซนติเมตร น้ำหนัก 6-8 กิโลกรัม มีชนิดย่อยด้วยกัน 2 ชนิด
มีพฤติกรรมอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง ในบางครั้งอาจพบในป่าพรุด้วย อาหารของค่างชนิดนี้ ได้แก่ ใบอ่อนของต้นไม้, ผลไม้ และแมลงตัวเล็กๆ จะออกหากินในเวลากลางวัน มักอยู่รวมเป็นฝูงประมาณ 10-15 ตัว มีการกระจายพันธุ์ในแถบภาคตะวันตก, ภาคเหนือของไทย, ภาคใต้ของลาว, พม่า, เวียดนาม, ตอนใต้ของจีน, กัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว