xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด! ซินโครตรอนร่วมทดสอบ “BCCSAT-1” ดาวเทียมดวงแรกผลงานของเด็กไทย พร้อมส่งสู่อวกาศ มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ซินโครตรอนร่วมทดสอบประสิทธิภาพดาวเทียม “BCCSAT-1” ดาวเทียมดวงแรกจากผลงานของนักเรียนไทย พร้อมส่งสู่อวกาศ มี.ค.นี้ เน้นภารกิจถ่ายภาพจากอวกาศพื้นที่ทางด้านการเกษตร หวังนำไปใช้ประโยชน์ด้านพัฒนาการเกษตรและส่งเสริมพัฒนาสินค้าการเกษตร

วันนี้ (4 ก.พ.) นายสำเริง ด้วงนิล รองผู้อำนวยการสนับสนุนทางเทคนิค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เข้าร่วมแผนงานบูรณาการพัฒนาดาวเทียมเพื่อการสำรวจอวกาศ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศ เพื่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียม


รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและระบบโดยรอบ ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบทดสอบสภาวะการทำงานของดาวเทียมเพื่อการสำรวจโลก อวกาศและอุปกรณ์โดยรอบ

ทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้พัฒนาห้องปฏิบัติการจำลองสภาวะอวกาศเพื่อการทดสอบดาวเทียมขึ้น โดยสามารถให้บริการทดสอบจำลองสภาวะอวกาศสำหรับดาวเทียมที่มีความเป็นสุญญากาศที่ความดันต่ำกว่า 1.0x10-6 torr และความสามารถจำลองสภาวะอุณหภูมิอวกาศที่เกิดขึ้นกับดาวเทียม ที่สภาวะอุณหภูมิ± 150 องศาเซลเซียส ปัจจุบันระบบจำลองสภาวะอวกาศนี้อยู่ในช่วงดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ


อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ได้รับโอกาสต่างๆ ในการร่วมพัฒนาดาวเทียมที่ออกแบบและสร้างขึ้นภายในประเทศ โดยการปรับโปรแกรมและประยุกต์ใช้เตาเชื่อมแล่นประสานในสภาวะสุญญากาศที่เป็นผลงานการพัฒนาของสถาบันฯ มาจำลองสร้างสภาวะอวกาศเพื่อทดสอบอุปกรณ์ประกอบดาวเทียมให้กับหน่วยงานหรือผู้พัฒนาสร้างดาวเทียมต่างๆ ทั้งการให้บริการทดสอบดาวเทียม KNACKSAT จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และล่าสุดดาวเทียม BCCSAT-1 ผลงานจากนักเรียนมัธยม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นต้น

สถาบันฯ ได้ทำการจำลองสภาวะอวกาศในการทดสอบดาวเทียม BCCSAT-1 ที่ระดับสุญญากาศความดัน 5x10-5 torr อุณหภูมิ 60 องศาเชลเซียล เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และวัดค่าการสูญเสียมวลที่เกิดขึ้นของดาวเทียม ซึ่งผลการทดสอบนั้นให้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี และเป็นตัวยืนยันได้ว่าดาวเทียม BCCSAT-1 มีผลการสูญเสียมวลตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ พร้อมส่งดาวเทียมออกสู่อวกาศจริง ทั้งนี้กำหนดการปล่อยดาวเทียม BCCSAT-1 นี้ จะมีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม 2564 นี้


สำหรับดาวเทียม BCCSAT-1 เป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีขนาดเพียง 10x10x10 เซนติเมตร เกิดขึ้นภายใต้โครงการ BCC Space Program สร้างจากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียน บริษัท ASTROBERRY มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยโตเกียว มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมเด็กนักเรียนไทยเข้ามาเรียนรู้และพัฒนาพื้นฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ สร้างดาวเทียมผ่านการปฏิบัติงานจริง

ดาวเทียม BCCSAT-1 นั้นกำหนดให้มีภารกิจในการถ่ายภาพจากอวกาศ เน้นใช้ในการถ่ายภาพพื้นที่ทางด้านการเกษตร ซึ่งภาพที่ได้จากดาวเทียมนั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาทางการเกษตร และส่งเสริมพัฒนาสินค้าทางการเกษตรต่อไป

“จากการให้บริการการทดสอบดาวเทียม BCCSAT-1 เป็นตัวอย่างหนึ่งของการให้บริการที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศให้กับประเทศไทย สามารถสร้างและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้กับประเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสำเริงกล่าวในตอนท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น