xs
xsm
sm
md
lg

ไปเบิ่ง! ชาวบ้านที่ยโสธรต้มเกลือแบบโบราณ ทำเกลือสินเธาว์ขายสร้างรายได้เสริมหลังทำนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยโสธร - ชาวบ้านที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว ใช้ที่ดินสาธารณะซึ่งเป็นดินเค็มหมักกับน้ำแล้วต้มเป็นเกลือสินเธาว์ อุปกรณ์และวิธีการทำสืบทอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณ เผยเป็นเกลือที่หมักปลาร้าได้รสนัวและเก็บไว้ได้นาน แต่ละปีชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการขายเกลือหลายหมื่นบาท ผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการของตลาด


บ้านหนองเทา ต.นาแก อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ไร่นาเป็นดินเค็มหรือที่คนในท้องถิ่นอีสานเรียกว่า “ดินขี้ทา” ไม่เหมาะกับการทำนาทำไร่ ชาวบ้านแถบนี้จึงพากันทำอาชีพเสริมด้วยการต้มเกลือสินเธาว์ขาย หารายได้เลี้ยงครอบครัว กลายเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปี

โดยแหล่งทำเกลือสินเธาว์ขนาดใหญ่ของชาวบ้านหนองเทา คือ บ่อเกลือหนองศาลามีเนื้อที่กว่า 64 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ทำการเกษตรไม่ได้ เนื่องจากใต้ผิวดินมีแต่ขี้ทา หนองศาลาอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปร่วม 1 กิโลเมตร หลังจากฤดูทำนาข้าวแล้วเสร็จ มกราคม-ปลายเดือนพฤษภาคม กว่า 3-4 เดือน ชาวบ้านบ้านหนองเทาราว 25% ของหมู่บ้านจะไปรวมตัวกันที่บ่อเกลือแห่งนี้เพื่อต้มเกลือ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และอุปกรณ์แบบโบราณที่ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย


นายพิทักษ์ หีบทอง อายุ 60 ปี หนึ่งในชาวบ้านในท้องถิ่นที่ผูกพันกับการต้มเกลือมาตั้งแต่อายุ 12 ปี มีความเชี่ยวชาญในการต้มเกลือให้ได้ปริมาณมาก บอกว่า การต้มเกลือตามวิถีของคนที่นี่ไม่ได้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ไม่ต้องซื้อหา ทำตามที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายบอก แม้แต่การวัดความเค็มของน้ำเกลือ ก็ใช้กิ่งหนามแดง หรือหนามจาง ต้นไม้ประจำถิ่นที่อยู่ในบ่อเกลือมาวัดด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงนำกิ่งหนามแดง หรือหนามจางไปวางลงในน้ำเกลือที่ได้จากการหมักขี้ทาไว้ 1 คืน

หากหนามแดง หรือหนามจางลอย แสดงว่าความเค็มพอเหมาะที่จะนำไปต้มเกลือได้ และหากจะต้มน้ำให้ได้เกลือในปริมาณที่มาก ต้องรู้จักการเร่งไฟ และราไฟในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเคล็ดลับนี้พ่อพิทักษ์บอกว่า เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้วิถีการต้มเกลือยังคงอยู่คู่กับชาวบ้านหนองเทาต่อไป


สำหรับอุปกรณ์ในการต้มเกลือแบบโบราณ ชาวบ้านสามารถทำขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นฮาง หรือราง มีลักษณะคล้ายเรือ ความยาวประมาณ 2-4 เมตร ทำจากไม้ ตั้งกระจายอยู่ทั่วบ่อเกลือสินเธาว์ คนที่ขยันจะมีรายได้จากการขายเกลือในช่วง 3-4 เดือน นับ 30,000 บาทต่อปี ชาวบ้านหนองเทา ไม่นิยมใช้เกลือไอโอดีนที่วางขายตามท้องตลาดมาหมักทำปลาร้า เพราะจะทำให้ปลาร้าเน่าเสีย

จึงนิยมใช้เฉพาะเกลือสินเธาว์ที่ผลิตแบบดั้งเดิมมาหมักทำปลาร้า จึงจะทำให้ไม่เน่าเสียและมีรสชาติอร่อย เกลือสินเธาว์จึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดในท้องถิ่นแถบอีสานอยู่มาก


นายเจริญ หนองเทา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านหนองเทา กล่าวว่า ชาวบ้านหนองเทากว่า 25% ของหมู่บ้าน เมื่อถึงช่วงเวลาว่างเว้นจากเก็บเก็บข้าวนาปีแล้ว แต่ละวันจะพากันไปรวมตัวมาต้มเกลือสินเธาว์ตามพื้นที่สารธารณะกว่า 64 ไร่ที่เป็นผืนดินเค็ม หรือดินขี้ทา ใช้ทำการเกษตรไม่ได้ ชาวบ้านจะมีรายได้จากการต้มเกลือขายกิโลกรัมละ 17 บาท หรือ 6 กิโล 100 บาท

บางครอบครัวขยันสมารถต้มเกลือสินเธาว์ได้วันละ 20-30 กิโลกรัม มีรายได้เข้าสู่ครอบครัวอย่างน้อย 500 กว่าบาท/วัน ตกเดือนละ 15,000 บาท ส่วนการขายนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาจองล่วงหน้าและมารับซื้อถึงที่ ทุกวันนี้ต้มเกลือสินเธาว์ขายได้ไม่พอกับความต้องการ ทำกันเท่าที่ทำไหว


กำลังโหลดความคิดเห็น