xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นท่องเที่ยวเลยหลังโควิด-19 มุ่งพัฒนาเชียงคานเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลย - ผู้ว่าฯ เลยผนึกผู้ประกอบการท่องเที่ยว เตรียมฟื้นฟูท่องเที่ยวหลังโควิด-19 มุ่งรักษาเชียงคานเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก วางเป้าในปี 2568 เชียงคานจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่เสริมสร้างอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม


วันนี้ (27 ม.ค.) ที่โรงแรมอุ่นรักริมโขง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม เตรียมฟื้นฟูเชียงคาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหลังโควิด โดยมี นายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอเชียงคาน พร้อมด้วยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม จำนวนกว่า 200 คน ร่วมกิจกรรม

นายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอเชียงคาน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมมีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมและสร้างความเข้าใจด้านการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงแรม และให้จัดทำบันทึกรายการและส่งข้อมูลทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4) ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมการปกครอง ทั้งดำรงคงไว้สถานะของเมืองเชียงคานเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนระดับโลก เป็น 1 ใน 100 เมืองที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงาม

ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 200 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงแรม 45 แห่ง ผู้ประกอบการที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม 125 แห่ง ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และอื่นๆ อีก 30 แห่ง




นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองเชียงคานเป็นเมืองที่มีแหล่งเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงามเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งมีจุดเด่น คือความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่รางวัล Sustainable Destinations TOP 100 ในปี 2563 เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการสร้างระบบนิเวศท่องเที่ยว

ภายในปี 2568 เชียงคานจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่เสริมสร้างการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ด้วยการจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม ด้วยปณิธานหลักด้านความยั่งยืน ร่วมกันจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวด้วยความประทับใจในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน


ด้วยการบูรณาการความร่วมมือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชียงคาน ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวและสามารถนำไปปฏิบัติได้ อาทิ ทางเดินริมแม่น้ำโขงได้รับรางวัล Universal Design Place ประจำปี 2019 เรื่อง “การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสถานที่ท่องเที่ยว” จากมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม สรุปแล้วเชียงคานจะเป็นต้นแบบที่ไร้ที่ติสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น