อุบลราชธานี - แม่โพสต์ลงโซเชียล ลูกสาว ป.3 ถูกครูตีจนเส้นเอ็นนิ้วขาดจะให้เงินทำขวัญแค่ 5,000 บาท ขณะครูบอกพร้อมพาไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนที่ดีสุดแล้วค่อยมาคุยเรื่องค่าทำขวัญ แต่แปลกใจตีเด็กครั้งเดียว 6 เดือนก่อน แต่เอ็นทำไมเพิ่งมาฉีกและทางแม่เด็กเรียกค่าทำขวัญมากถึง 400,000 บาท
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์รูปพร้อมข้อความ “ครูตีฝ่ามือเด็กนักเรียน ป.3 เส้นเอ็นฉีกขาด ครูสิเยียวยาให้ 5,000 บาท แต่ถ้าอยากได้หลายกว่านี้ให้ไปดำเนินเรื่องตามกฎหมายเอา รักษามา 5 เดือนแล้ว แต่ยังไม่หาย
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เข้าสอบถามข้อเท็จจริงจากนางดวงใจ ชาวรักษ์ อายุ 45 ปี ยายของเด็กหญิงนิด (นามสมมติ) อายุ 9 ขวบ นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.บุณฑริก ซึ่งเป็นเด็กที่อ้างว่าถูกครูประจำชั้นใช้ไม้เรียวตีจนเส้นเอ็นขาด
จากการสอบถามนางดวงใจเล่าว่า เรื่องเกิดขึ้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ตนเห็นหลานสาวนั่งร้องไห้อยู่ในบ้าน จึงได้สอบถามได้ความว่าถูกครูลงโทษตีที่มือ รู้สึกเจ็บและมือปวดบวม รุ่งขึ้นได้โทรศัพท์แจ้งครูที่โรงเรียนและพาหลานสาวไปโรงพยาบาลประจำอำเภอ แพทย์ตรวจแล้วลงความเห็นเส้นเอ็นอักเสบให้ยามากิน ผ่านไปหลายวันหลานก็ยังมีอาการปวดบริเวณที่ถูกตีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2563 หลานสาวมีอาการปวดที่บริเวณนิ้วโป้งอย่างรุนแรง ตนจึงพาหลานสาวไปโรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง แพทย์เอกซเรย์แล้วบอกว่ากระดูกไม่หัก ไม่น่าเป็นอะไร ตนจึงขอใบส่งตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม อำเภอเดชอุดม ครั้งนี้แพทย์วินิจฉัยว่าเอ็นข้อมือขวานิ้วโป้งฉีกขาด
เมื่อทราบว่าเอ็นนิ้วโป้งหลานฉีกขาดจึงโทรศัพท์แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ หลังจากนั้นทางโรงเรียนก็มาพูดคุยขอโทษพร้อมทั้งผูกแขนทำขวัญให้หลานสาวจำนวน 1,000 บาท แต่ทางลูกสาวที่เป็นแม่ของน้องนิดเรียกค่าทำขวัญ 400,000 บาท ส่วนการรักษานั้นจะรักษากันเอง แต่สามีของครูบอกว่าให้แค่ 5,000 บาท ถ้าอยากได้มากกว่านั้นให้ไปฟ้องเอา ทำให้ครอบครัวรู้สึกไม่ดีเพราะหลานสาวก็เจ็บตัวแล้วยังต้องเจอคำพูดแบบนี้อีก
ด้านเด็กหญิงนิดเล่าว่า วันเกิดเหตุครูให้นักเรียนจัดโต๊ะเรียนมีการเว้นระยะห่างป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยมีเส้นของแผ่นกระเบื้องเป็นแนว โดยตนเองอยู่แถวหน้าสุด แต่ถูกเพื่อนแถวหลังดันโต๊ะขึ้นมาทำให้เลยเส้นที่ครูกำหนด
จึงถูกครูทำโทษด้วยการใช้ไม้เรียวตีฝ่ามือคนละ 1 ครั้ง รวม 6 คน แต่ตนรู้สึกเจ็บมาก เมื่อกลับมาบ้าน จึงได้นั่งร้องไห้จนยายมาเห็นดังกล่าว
ขณะที่นางสาวสุนันทา ป้องสีดา อายุ 38 ปี ครูประจำชั้น เปิดเผยว่า วันเกิดเหตุเป็นช่วงเปิดเรียนใหม่ หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 จึงมีการจัดระเบียบโต๊ะนั่งเรียนให้มีการเว้นระยะห่าง แต่เด็กหญิงนิดไม่ทำตาม ทำให้ต้องมีการทำโทษด้วยการตีฝ่ามือน้องไป 1 ครั้ง ไม่ได้ตั้งใจให้น้องเจ็บขนาดนั้น เพราะใช้ไม้เรียวปกติไม่ใหญ่ ไม่ได้ตีแรงและตีแค่ครั้งเดียว
แต่พอทราบว่าน้องมือบวมตนก็ได้ไปหาน้องที่บ้าน พร้อมทั้งขอโทษคุณยายของน้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นวันจันทร์ต่อมาน้องก็มาเรียนตามปกติ มือหายบวมแล้ว เรียน เขียนได้ตามปกติ ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ตนก็สบายใจคิดว่าน้องคงไม่เป็นอะไรแล้ว
ส่วนสาเหตุที่น้องกลับมาบาดเจ็บอีกตนก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการที่ครูตีจริงไหม เพราะระยะเวลาห่างไปหลายเดือน จนมาถึงเดือนธันวาคม 2563 น้องก็มาเจ็บที่มืออีก แต่ตนก็ไม่ได้ปฏิเสธจะไม่ดูแล จึงไปบอกคุณยายของน้องว่าครูยินดีที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ ทั้งที่ก็ไม่แน่ใจว่าสาเหตุการกลับมาเจ็บใหม่ เกิดจากการที่ตนตีหรือไม่
เพราะช่วงเดือนธันวาคมโรงเรียนมีกีฬาสี น้องก็เป็นดรัมเมเยอร์ควงคทาได้ เล่นวอลเลย์บอลได้อย่างคล่องแคล่ว หลังจากนั้นก็มาทราบว่าน้องเจ็บมือเส้นเอ็นฉีกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ตนตีเด็กจนถึงวันที่ใบรับรองแพทย์ออกมาเดือนธันวาคมมีระยะเวลาเกือบ 6 เดือน อาการบาดเจ็บยังไม่แน่ชัดว่าเส้นเอ็นฉีกขาดเกิดจากการที่ถูกตี หรือเหตุใดจึงอยากขอความเป็นธรรมด้วย
ซึ่งได้บอกกับครอบครัวของน้องไปแล้วจะให้ไปรักษากับหมอโรงพยาบาลเอกชนที่ดีที่สุด โดยตนยินดีจ่ายค่ารักษาให้ ส่วนค่าทำขวัญยังไม่ได้พูดคุยกันเพราะต้องการรักษาให้เด็กหญิงนิดหายก่อน
ทางด้านนายทรงศักดิ์ พรหมธิดา ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หลังจากที่ทราบเรื่องทางโรงเรียนไม่ได้นิ่งนอนใจ พาคณะครูเข้าไปเยี่ยมพูดคุยผูกแขนตามประเพณีของทางอีสาน ทำความเข้าใจกันหลายรอบแล้ว ล่าสุดทางฝ่ายผู้ปกครองเรียกค่าทำขวัญเป็นหลักแสน ครูเองก็ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายได้ขนาดนั้น จึงได้มีข้อตกลงยุติกันว่าทางครูจะพานักเรียนไปตรวจรักษากับโรงพยาบาลเอกชนกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเส้นเอ็น เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรและจะรักษาอย่างไร
ส่วนเรื่องค่าทำขวัญค่อยคุยกันอีกครั้ง สำหรับประเด็นเรื่องเงิน 5,000 บาท เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพูดคุยช่วงทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ไม่ใช่ข้อยุติทั้งหมด และจากภาพที่ปรากฏในโลกออนไลน์นั้นเป็นภาพเก่าเดือนธันวาคม ไม่ใช่ภาพปัจจุบัน และไม่ได้เป็นไปตามที่สื่อเสนอข่าวว่าโรงเรียนไม่ได้สนใจดูแลเด็กแต่อย่างใดด้วย