xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเขาหินซ้อนค้านก่อสร้าง รง.รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มทุนจีน พบจ่อตั้งในพื้นที่แหล่งน้ำสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - ไม่เอามลพิษ! ชาวบ้านเขาหินซ้อน 300 คน ลงชื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มทุนจีน หลังพบหลักฐานจ่อตั้งริมแควระบมแหล่งต้นน้ำคลองท่าลาด ลำน้ำสาขาลุ่มแม่น้ำบางปะกง สายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวแปดริ้ว หวั่นก่อมลพิษซ้ำโรงงานแป้งมันลอบปล่อยน้ำเสีย

เย็นวานนี้ ( 18 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พระปลัดอาทร ปัญญาปทีโป เจ้าอาวาสวัดท่าไม้แดง (แหลมเขาจันทร์) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.3 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ตนเองพร้อมชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน รวม 300 คนได้ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมทำหนังสือคัดค้านโครงการก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแยกเอาทองแดง ตะกรันโลหะ และถอดส่วนประกอบอื่นออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

โดยได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อหลายหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย อบต.เขาหินซ้อน โดยมีปลัด อบต.ทำหน้าที่รักษาการนายก อบต.เป็นผู้รับหนังสือ ศูนย์ดำรงธรรม อ.พนมสารคาม โดยมีปลัดอำเภอเป็นผู้รับหนังสือ และที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเป็นผู้รับหนังสือ

รวมทั้งเดินทางเข้าพบ นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการการจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อขอให้ยื่นหนังสือส่งตอ่ไปยัง นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด



พระปลัดอาทร ระบุว่า การเดินสายเข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เป็นเพราะหวั่นเกรงว่าโรงงานแห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจก่อมลพิษซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ได้รับจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ที่ลอบแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองระบมเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวในวันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยพบว่าโรงงานแห่งนี้มีพื้นที่จัดตั้งอยู่ที่บริเวณริมฝั่งแควระบม ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำคลองท่าลาด ลำน้ำสาขาลุ่มแม่น้ำบางปะกง สายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวแปดริ้ว ที่สำคัญลำคลองสายดังกล่าวยังเป็นต้นน้ำที่ถูกนำไปผลิตเป็นน้ำประปาหล่อเลี้ยงชาวบ้าน จ.ฉะเชิงเทรา ในหลายอำเภอ

จึงทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกใบอนุญาตให้ทำการก่อตั้งโรงานในพื้นที่อย่างไม่เหมาะสมหรือไม่


“เรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีชาวบ้านคนใดรับทราบมาก่อน ที่สำคัญไม่เคยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอย่างเปิดเผย แต่กลับมีเอกสารระบุว่าได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้วเมื่อปี 2562 และมีการออกใบอนุญาตให้ในปี 2563 รวมทั้งใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานที่ได้ออกให้ระหว่างปี 2561-2563 นั้นได้หมดอายุลงแล้ว แต่ผู้ก่อตั้งโรงงานก็ยังเข้ามาถมพื้นที่ และเพิ่งนำวัสดุมากองไว้เพื่อเตรียมการก่อสร้าง”

พระปลัดอาทร ยังเผยอีกว่า ในวันนี้ชาวบ้านจึงต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอให้มีการตรวจสอบการออกใบอนุญาตว่ามีกระบวนการได้มาอย่างไร รวมทั้งขอให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่อย่างเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น