ตราด - เริ่มบานปลาย! โควิด-19 ทำชาวบ้าน และกลุ่มประมงแหลมงอบรวมตัวกันไม่ให้เรือประมงสมุทรสาครเข้าเทียบท่าหวั่นนำเชื้อกระจาย ร้อนถึงหน่วยงานเกี่ยวต้องรีบเครียร์ หวั่นเกิดกระทบกระทั่ง สุดท้าย สสจ.ต้องขึ้นตรวจหาเชื้อลูกเรือก่อนให้นำปลาทะเลขึ้นฝั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (28 ธ.ค.) นายสุภาพ ปันจานนท์ เจ้าของเรือประมง จ.ตราด พร้อมชาวบ้านแหลมงอบกว่า 30 คน ได้พากันไปรวมตัวที่ท่าเรือประมง แหลมงอบ ป้องกันไม่ให้เรือประมงจาก จ.สมุทรสาคร เข้าเทียบท่าเพื่อนำปลาทะเลขึ้นฝั่งเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลัง จ.ตราด รักษาตัวเองให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดในรอบแรกได้เป็นอย่างดี และยังถือเป็นจังหวัดไข่แดงเดียวในภาคตะวันออกที่สามารถรักษาที่มั่นของตนเองไว้ได้
โดยมี นาวาเอก นฤพนธ์ วิไลธัญญา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดตราด (ศรชล.) เจ้าหน้าที่ปีโป้ และฝ่ายปกครองอำเภอแหลมงอบ รวมทั้งตัวแทนสมาคมประมง จ.ตราด เข้าเจรจาเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้าน
นายสุภาพ เจ้าของเรือประมง จ.ตราด บอกว่า เรือประมงที่เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร ได้เดินทางมาถึง จ.ตราด ตั้งแต่วานนี้และจะขอเข้าเทียบท่าในช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่เนื่องจาก จ. ตราดได้มีคำสั่งห้ามเรือประมงจากสมุทรสาคร เข้าเทียบท่าตั้งแต่เย็นวันที่ 21 ธ.ค. ทำให้ชาวบ้านต่างไม่ยินยอมเพราะเกรงว่าจะเกิดการแพร่เชื้อ
พร้อมบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้เรือประมงลำดังกล่าวได้เคยเข้ามาเทียบท่ายังท่าเทียบเรือแหลมงอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ปีโป้และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อกับลูกเรืออย่างเข้มงวด ถือเป็นการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ที่สำคัญเรือประมงลำนี้ได้แจ้งออกจาก จ.สมุทรสาครเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. และเข้าในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 21 ธ.ค. แต่ จ.ตราด ได้ออกคำสั่งห้ามเข้าในช่วงเย็นจึงต้องออกจากพื้นที่ไป
“แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลคือ มาตรการในการตรวจคัดกรองลูกเรือที่มีช่องว่างมากและไม่ละเอียด และเมื่อเรือประมงลำนี้จะเข้ามาเทียบท่าอีกครั้งเพื่อขอนำปลาขึ้นท่า ชาวบ้านและกลุ่มประมงจึงมีความกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงขอให้ไปขึ้นที่ท่าอื่นและเมื่อโทรศัพท์หารือกับเจ้าของเรือก็ถูกท้าทายว่าให้นำคำสั่งผู้ว่าฯ มาแสดงจึงกลายเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันขึ้น” นายสุภาพ กล่าว
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นายอำเภอแหลมงอบ และรอง ผอ.ศรชล.ตราด ได้เข้าชี้แจงกับชาวบ้านเพื่อขอให้เรือจากสมุทรสาครนำปลาทะเลขึ้นฝั่ง พร้อมยืนยันว่าจะไม่ให้ลูกเรือขึ้นมาด้วย แต่ชาวบ้านยังไม่ยอม สุดท้ายจึงต้องเสนอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอแหลมงอบ เดินทางขึ้นไปตรวจเชื้อลูกเรือบนเรือประมง ซึ่งผลการตรวจจะรู้ผลภายใน 2 วัน
ชาวบ้านจึงพอใจและยินยอมให้มีการนำปลาทะเลขึ้นฝั่งได้แต่ยังไม่ยินยอมให้เรือจากสมุทรสาครเข้าเทียบท่าอีก ซึ่งนายอำเภอแหลมงอบ รับปากว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านไม่เกิดความกังวล