ฉะเชิงเทรา - จับตาพื้นที่ 2 อำเภอชายขอบอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่สนามเลือกตั้งนายก อบจ.เมืองแปดริ้ว แม้มีจำนวนประชากรและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่มาก แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ไข่แดงที่อาจมีผลต่อการช่วงเชิงเก้าอี้นายก อบจ. ในรอบ 8 ปี
ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกนักการเมืองพื้นที่เข้ามาบริหารบ้านเกิดของตนเอง ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ โดยสิ่งที่น่าจับคือผลการเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อฐานเสียงการเลือกตั้งในระดับประเทศ ทำให้ในวันนี้ผู้สมัครในหลายพื้นที่ต่างพากันระดมทุกกลยุทธ์เพื่อเรียกคะแนนและความมั่นใจจากประชาชน
โดยอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจับตาคือ สนามเลือกตั้งใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตแชมป์เก่าอย่าง นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ หรือนายกฯ ไก่ ที่ครองตำแหน่งยาวนานถึง 3 สมัย ผู้นำกลุ่ม "แปดริ้วโฉมใหม่" ที่ได้นำทีมงานหน้าใหม่และทีมงานหน้าเก่า ลุยหาเสียงสู้ศึกกับผู้ท้าชิงหน้าใหม่อย่าง จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ผู้สมัครหมายเลข 2 อดีตนายก อบต. และเทศบาลตำบลบางผึ้ง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แกนนำกลุ่ม "ฉะเชิงเทราก้าวหน้า"
ที่มีผู้สมัคร ส.อบจ.หน้าใหม่ร่วมท้าชิงเก้าอี้แบบครบถ้วนทั้ง 30 เขต และยังมีอดีต ส.อบจ.รุ่นเก่าเข้าร่วมทีมภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มการเมืองใหญ่อย่าง "ตระกูลฉายแสง" ที่พยายามปลุกปั้น "ยศสิงห์" เพื่อหวังล้มแชมป์เก่าอดีตนายกฯ ที่เคยปลุกปั้นมาเองกับมือเช่นเดียวกัน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไปยังซีก รัฐบาล จึงเลิกให้การสนับสนุน
ทำให้ศึกชิงตำแหน่งนายก อบจ. และ ส.อบจ.ฉะเชิงเทราในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้วการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจน
และแม้ “ยศสิงห์” จะเดินหน้าปูพรมหาเสียงเปิดตัวมานานกว่า 2 ปีเต็ม เพื่อให้ชาวเมืองแปดริ้วได้เห็นหน้าค่าตา แต่เมื่อเปรียบเทียบอดีตนายก อบจ. คนเก่า ที่สร้างผลงานและภาพลักษณ์จนคุ้นชินกับชาวบ้านในพื้นที่ ก็ต้องยอมรับว่ามีดีกรีการต่อสู้ที่อยู่เหนือกว่ากันมาก
อีกทั้งอดีตนายก อบจ.คนเก่ายังเป็นผู้ที่ขยันเดินสายออกงานทั้งงานบุญ งานบ้านและงานในหน้าที่เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนมาตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีเต็ม ย่อมมีความได้เปรียบด้านมวลชนที่สามารถปลูกฝังรากลงแน่นลึกอยู่ในใจได้มากกว่า
ขณะที่ "ยศสิงห์" ผู้ท้าชิงหน้าใหม่แม้จะมีขั้วการเมืองใหญ่เข้ามาหนุนหลัง แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ากระแสความนิยมและฐานเสียงเดิมของกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่หลังนี้ได้เริ่มอ่อนล้าลง เห็นได้จากผลการเลือกตั้งการเมืองระดับชาติในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้หลุดเก้าอี้ตำแหน่ง ส.ส.เขต 1 และเขต 4 ที่เคยครอบครองมานาน
อีกทั้งฐานกำลังหลักส่วนใหญ่ยังหยุดนิ่ง ทั้งอดีต ส.อบจ. ที่ยังคงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากปัญหาเดิมในอดีตที่คนในบ้านเดียวกันต้องมาแข่งขันกันเอง จนทำให้ต้องหยุดเล่นการเมืองไปชั่วขณะ เพื่อไม่เกิดความบาดหมางระหว่างกัน
และเมื่อส่องลึกลงไปถึงการเมืองในระดับ นายก อบต. และ ส.อบต. ตลอดจนเทศบาลต่างๆ นั้น พบว่า การเมืองในระดับท้องถิ่นของเมืองแปดริ้วในวันนี้ มีการแตกย่อยกลุ่มการเมืองออกไปอีกมากมาย จนแทบไม่อาจรวบรวมกำลังให้เป็นกลุ่มใหญ่ได้
แต่สิ่งที่น่าจับตาจากการเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.ในครั้งนี้ก็คือ "กระแสของการอยากเปลี่ยน" และความร้อนแรงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตัวแปรที่น่าสนใจคือ ประชาชนในพื้นที่อำเภอห่างไกลชายขอบสุดเขตจังหวัด อย่าง อ.สนามชัยเขต และ อ.ท่าตะเกียบ ที่มวลชนส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานพลัดถิ่นที่มี การย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ล้วนแต่มีความนิยมชมชอบแนวทางการเมืองของกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
โดยกลุ่มนี้แม้จะเป็นเพียงคะแนนเสียงตัวแปรในช่วงปลาย แต่ก็อาจพลิกผันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการเมืองระดับจังหวัดได้ไม่ยากนัก หากผลคะแนนเสียงของคนเมืองออกมาใกล้เคียงหรือสูสีกัน