เชียงราย - ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยัน “เชียงราย” คุมโควิด-19 ได้ 100% พร้อมเสริมกำลังกันคนลอบข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติเต็มที่ ขณะที่คนไทยตกค้างในเมียนมาเหลือไม่ถึงร้อยเท่านั้น
วันนี้ (16 ธ.ค.) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติหน้าที่ร่วมสกัดกั้นโรคไวรัสโควิด-19 ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) อ.แม่สายได้ตรวจรับคนไทยที่เดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง รวมทั้งค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย จ.อุตรดิตถ์ จ.แพร่ และ จ.น่าน ได้เสริมกำลังพลสนับสนุนการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติตั้งแต่ชายแดน อ.แม่สาย ถึง อ.เชียงแสน อีกด้วย
พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยเรื่องการลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนแล้วพบมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อพื้นที่เชียงรายมาก จึงให้ฝ่ายต่างๆป้องกันอย่างเข้มงวด สำหรับฝ่ายทหารนั้นเพื่อให้มีความเอกภาพจึงให้แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ได้บูรณาการกำลังทุกหน่วยและเพิ่มเติมกำลังเข้าไปอีกดังกล่าว
สำหรับพื้นที่ อ.แม่สายมีความยาวและมีท่าข้ามจำนวนมาก จึงได้จัดชุดลาดตระเวนและอุปกรณ์กีดขวางเพื่อป้องกันอย่างเต็มที่ ส่วนพื้นที่ภายในก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ช่วยกันตรวจตราตามหมู่บ้านและตำบลรวมทั้งย่านชุมชน ซึ่งตนเห็นว่ามีความสำคัญมากในการดูบุคคลแปลกปลอม
“มาถึงตอนนี้สบายใจขึ้นเพราะสามารถควบคุมการระบาดภายในได้ 100% และเชียงรายไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้ง 100% แล้ว”
กรณีการพยายามลักลอบเข้าเมืองช่วงมีการระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้านก็สืบทราบกันตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.เป็นต้นมา แต่เนื่องจากมีการปิดสถานบันเทิงในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีการข้ามกลับมากัน อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาก็ร่วมมือส่งคนไทยกลับมาอย่างต่อเนื่องทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ ปัจจุบันก็คงเหลือเพียงผู้ที่ติดเชื้อรายเดิมแล้วรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์อีก 35 ราย กลับบ้านได้แล้วกว่า 20 ราย
ส่วนคนไทยที่ตกค้าง เท่าที่ทราบน่าจะมีเต็มที่ประมาณ 300-400 ราย และได้มีการแจ้งกลับมารวมกันแล้ว 330 คน ล่าสุดแจ้งขอกลับมาเพิ่มเติมอีกประมาณ 60 คน ทั้งหมดอยู่ในสถานกักดูอาการหรือ State quarantine และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ที่เหลือก็อาจเป็นกลุ่มคนที่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่หากจะเดินทางกลับก็ขอความร่วมมือกลับมาตามช่องทางปกติเพราะการลักลอบเข้ามาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมาก