เชียงใหม่ - จังหวัดเชียงใหม่ จับมือ ม.แม่โจ้ ระดมนักบินโดรนจิตอาสากว่า 50 คน ร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรโดรนเฝ้าระวังไฟป่าเชียงใหม่ ติวเข้มระบบบริหารจัดการเตรียมพร้อมร่วมภารกิจป้องกันและดับไฟป่า แก้ปัญหาฝุ่นควัน
วันนี้ (13 ธ.ค. 63) ที่คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรโดรนเฝ้าระวังไฟป่าเชียงใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเจ้าภาพในการระดมนักบินโดรนจิตอาสาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 50 คน ร่วมโครงการอบรม เพื่อเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในการร่วมปฏิบัติการเฝ้าระวังไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าและคุณภาพอากาศ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่มีมาต่อเนื่องทุกปี ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจอย่างมาก ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องพยายามทำงานอย่างเต็มที่ในการลดความรุนแรงของปัญหาลงให้ได้ โดยพบว่าดีขึ้นตามลำดับแม้ว่าจะยังไม่หมดสิ้นไป โดยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนั้นต้องยอมรับว่าฝุ่นควันไม่มีพรมแดน และสภาพภูมิประเทศของเชียงใหม่เปรียบเสมือนรูของอ่างล้างหน้า จึงเอื้อต่อการสะสมของฝุ่นควันที่อาจจะพัดพามาจากที่อื่น
สำหรับการจัดการการเผานั้น ในส่วนของพื้นที่การเกษตรสามารถจัดการเชื้อเพลิงได้ผลค่อนข้างดีแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีปัญหาการเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการผ่อนผันให้ทำการเกษตร ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากเชื้อเพลิงสะสม รวมทั้งการเก็บของป่าหรือความประมาท โดยเมื่อเกิดไฟไหม้ป่าแล้วดับได้ค่อนยาก ซึ่งการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะโดรนเข้ามาช่วยในการระบุชี้พิกัดที่แน่ชัดจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนการทำงานจากนักบินโดรนจิตอาสาและได้ผลดีเป็นน่าพอใจ เพียงแต่ว่าในเวลานั้นอาจจะยังไม่มีระบบบริหารจัดการ ขณะที่ในปีนี้เมื่อมีโครงการอบรมในครั้งนี้ที่เข้าร่วมหารือกันแล้วเชื่อว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการร่วมกันเฝ้าระวังและดับไฟป่าได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่นายวีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า โครงการอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการล้วนเป็นจิตอาสาที่จะต้องร่วมกัน เสียสละเวลา เพราะว่าไฟป่าไม่รู้ว่าจะเกิดที่ใด เวลาใด และที่สำคัญที่สุดคือหากจุดเกิดไฟอยู่กลางป่าจะทำอย่างไร ซึ่งการอบรมครั้งจะมีการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระบบในการจัดการโดรนที่ขึ้นบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การแบ่งพื้นที่เพื่อการระบุพิกัดที่ชัดเจนถูกต้องแม่นยำ เป็นต้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าการอบรมนี้จะสร้างการเชื่อมโยงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากมีเหตุเกิดขึ้น