ศูนย์ข่าวศรีราชา - ‘ลาบิกซ์’ บริษัทในกลุ่มไทยออยล์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ โครงการผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (ส่วนขยาย ครั้งที่ 2) ณ ศาลาประชาคมอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
วันนี้ (1 ธ.ค.) นายธานี เกียรติพิพัฒนกุล รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง พร้อมด้วยนายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ โครงการผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ส่วนขยาย ครั้งที่ 2 พร้อมด้วย นายพิพัฒน์พล อำพรเพ็ชร์ ปลัดอำเภอศรีราชา นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ อดีตนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง และผู้แทนส่วนราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา พี่น้องชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานครั้งนี้จำนวนมาก
นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในนามของบริษัท ลาบิกซ์ กำจัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยออยล์ รู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ โครงการผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ส่วนขยาย ครั้งที่ 2 โดยจะเพิ่มกำกลังการผลิตจาก 360 ตันต่อวัน เป็น 405 ตันต่อวัน
ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวจะต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เพื่อประกอบการขออนุญาต และด้วยบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อีกทั้งเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้บริษัท ซีคอท จำกัด เป็นซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในครั้งนี้ขึ้น
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อวิตกกังวล และข้อเสนอแนะต่างๆ ของพี่น้องประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะได้นำข้อมูลกลับไปประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนรอบด้าน และจัดทำเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณาตามลำดับขั้นตอนต่อไป
ด้านตัวแทนขุมชนจากหลายพื้นที่รอบกลุ่ม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีการเพิ่มกำลังผลิต หลังเปิดดำเนินการมาแล้ว 4 ปี ดังนั้น ทางบริษัทฯ ควรจะต้องเพิ่มมาตรการในการดูแลเครื่องจักรที่ใช้งานมานานแล้ว จะต้องดูแลด้านน้ำเสียที่ปล่อยออกจากโรงงานและมลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและให้ได้มาตรฐานด้วย
โดยส่วนใหญ่ประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นห่วงด้านมลพิษ เช่น กังวลการคมนาคมขนส่งสารเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการผลิตที่ผ่านแหล่งชุมชน จะต้องวางมาตรการที่เข้มงวด หรือใช้เส้นทางการขนส่งทางรางรถไฟแทน นอกจากนั้น ด้านกากของเสียจากกระบวนการผลิตจะต้องบริหารจัดการให้เข้มงวดด้วย เพราะหวั่นจะมีการลักลอบนำไปทิ้งตามแหล่งชุมชนต่างๆ
สำหรับข้อเสนอแนะต่างๆ นั้น โดยทางบริษัทฯพร้อมรับเพื่อนำไปวางมาตรการดูแลป้องกันตามข้อเสนอแนะดังกล่าว