ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - 8 อำเภอโคราชยังจมน้ำ เดือดร้อนกว่า 2,900 ครัวเรือน ขณะ 2 เขื่อนใหญ่ “เขื่อนลำตะคอง-ลำพระเพลิง” อั้นไม่ไหวเร่งพร่องน้ำรับมือ “พายุโมลาเบ” จ่อกระหน่ำ 28 ต.ค.นี้ ผู้ว่าฯ โคราชออกประกาศจังหวัดฯ ด่วนแจ้งเตือน ปชช. 14 อำเภอใน 5 ลุ่มน้ำเตรียมพร้อมอพยพ 24 ชม.
วันนี้ (26 ต.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือพายุโมลาเบที่จะส่งผลกระทบต่อ จ.นครราชสีมาในวันที่ 28-29 ต.ค.นี้ และเพื่อเป็นการไม่ประมาท จึงมอบให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องน้ำอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในอัตราที่เหมาะสม โดยในขั้นต้นจะควบคุมอัตราการระบายน้ำที่พร่องออกจากอ่างฯ ให้อยู่ในลำน้ำ และจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา และไหลผ่านพื้นที่หลายอำเภอรวมทั้งตัวอำเภอเมืองนครราชสีมา ก่อนลงสู่ลำน้ำมูลที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ นั้น ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 347.276 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 110.43% ของความจุอ่างที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองจะเริ่มระบายน้ำลงลำน้ำธรรมชาติ (ลำตะคอง) ในวันนี้ (26 ต.ค.) เวลา 12.00 น. โดยจะผันน้ำวันละไม่เกิน 1 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 10 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำ ระยะเวลาน้ำเดินจากทางเขื่อนถึงพื้นที่ในเมืองนครราชสีมาใช้เวลาประมาณ 4 วัน เพื่อพร่องน้ำรองรับพายุโมลาเบที่จะมีผลกระทบต่อ จ.นครราชสีมา วันที่ 28 ต.ค.นี้
ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง แจ้งเตือนการระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำพระเพลิง ลงวันที่ 26 ต.ค. 2563 เวลา 14.00 น. ระบุว่า เนื่องด้วย จ.นครราชสีมาได้รับการแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ว่าจะระบายน้ำลงลำน้ำธรรมชาติ (ลำตะคอง) ในวันที่ 26 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. เพื่อพร่องน้ำรองรับสถานการณ์พายุโมลาเบ ประกอบกับน้ำอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงมีปริมาณน้ำระดับ 156.625 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101.05% ของขนาดความจุอ่าง 155 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำรวม 0.258 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำที่ระบายจะไหลลงคลองธรรมชาติ และจะส่งผลให้ลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมวลน้ำทั้งหมดจะไหลไปที่ลำน้ำมูล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำไหลหลากในพื้นที่ จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ริมตลิ่งในเขตลุ่มน้ำลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำบริบูรณ์ ลำพระเพลิง และลำน้ำมูล ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.จักราช อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.พิมาย ทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวและติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งข้อมูลให้ประชาชนและติดตามสถานการณ์น้ำและจัดเวรเฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยง หากพบว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้สั่งอพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้ทันที พร้อมแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะยุติ
พร้อมกันนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ได้ส่งโทรสารในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ด่วนที่สุด ที่ นม.0021/ว520 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2563 ถึงนายอำเภอทั้ง 14 อำเภอ นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเน้นย้ำในการเตรียมความพร้อมให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทั้ง 14 อำเภอ 5 ลุ่มน้ำดังกล่าว เตรียมพร้อมอพยพกรณีเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลหลากในพื้นที่ และหากประเมินสถานการณ์แล้วจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ให้สั่งอพยพประชาชนไปยังจุดที่เตรียมไว้ทันที
ทางด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมา รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า จังหวัดนครราชสีมาประสบภัยน้ำท่วมรวม 14 อำเภอ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว รวม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนไทย อ.สีคิ้ว อ.ขามทะเลสอ อ.เสิงสาง อ.สูงเนิน และ อ.ด่านขุนทด และยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมรวม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย อ.โนนสูง อ.เมืองนครราชสีมา อ.พิมาย อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.จักราช รวม 33 ตำบล 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลตำบล 105 หมู่บ้าน 5 ชุมชน 2,927 ครัวเรือน ถนน 14 สาย โรงเรียน 3 แห่ง วัด 7 แห่ง สำนักสงฆ์ 2 แห่ง สะพาน 4 แห่ง และฝาย 1 แห่ง ส่วนพื้นที่เกษตรอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
โดยพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมสูง ประกอบด้วย อ.โชคชัย ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม รวม 6 ตำบล 760 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.ท่าลาดขาว ต.พลับพลา ต.ด่านเกวียน ต.กระโทก ต.โชคชัย และ ต.ท่าอ่าง อำเภอโนนสูง น้ำท่วม 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน 400 ครัวเรือน ได้แก่ ต.เมืองปราสาท ต.จันอัด ต.บิง และ ต.ลำมูล
อำเภอเมืองนครราชสีมา น้ำท่วม 7 ตำบล 1 เทศบาลนครราชสีมา รวม 27 หมู่บ้าน 5 ชุมชน 798 ครัวเรือน ได้แก่ ต.โคกสูง ต.หมื่นไวย ต.โคกกรวด ต.สีมุม ต.ปรุใหญ่ ต.หัวทะเล และ ต.บ้านใหม่ ชุมชนโรงต้มพัฒนา ชุมชนมิตรภาพ ซอย 4 ซอย 6 ชุมชนคุ้มวงศ์ ชุมชนเกาะลอย (สำโรงจันทร์)
อำเภอพิมาย น้ำท่วมรวม 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน 155 ครัวเรือน ได้แก่ ต.สัมฤทธิ์ ต.ในเมือง ต.ดงใหญ่ ต.ธารละหลอด ต.กระเบื้องใหญ่ และ ต.ท่าหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ น้ำท่วมรวม 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน 781 ครัวเรือน ได้แก่ ต.ท่าช้าง ต.พระพุทธ ต.ช้างทอง และ ต.หนองยาง และอำเภอจักราช น้ำท่วม รวม 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน 61 ครัวเรือน ได้แก่ ต.ทองหลาง และ ต.หนองพลวง