อุดรธานี - อบจ.อุดรฯ ร่วม มรภ.สวนสุนันทาเดินหน้าวิจัยและพัฒนากัญชา-กัญชง สมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ดันเป็นพืชเศรษฐกิจและหนุนให้เป็นสินค้า OTOP สร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น ประเดิมเงินทุนสร้างโรงเรือน 4 ล้านบาท
ที่ห้องประชุมชั้น 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนโครงการวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง สมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำโดย รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย นายกสภามหาวิทยาลัยฯ รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ดร.ณัฐณภรณ์ เอกนราจินดาวัฒน์ รักษาการ ผอ.ศูนย์การศึกษาจังหวัดอุดรธานี
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวถึงโครงการพัฒนากัญชา กัญชง และสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจดังกล่าว ดำเนินการภายใต้กฎหมายและนโยบายของรัฐบาล เรามองเห็นประสิทธิภาพของกัญชาในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์เป็นแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนโบราณ
ทาง อบจ.เรามีความคิดว่าอุดรฯ จะต้องเป็นจังหวัดแรกที่นำประชาชนเข้าสู่กระบวนการของกัญชาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจะต้องมีคลินิกเพื่อดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพให้แก่ประชาชน จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่มีความพร้อมด้านวิชาการ คิดค้นผลิตสายพันธุ์ วัตถุดิบกัญชา กัญชง คุณภาพดี สูตรตำรับยา วิธีการบำบัดฟื้นฟูรักษาให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยในการใช้เป็นยารักษาโรค และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพพี่น้องประชาชนในอนาคต
นายวิเชียรระบุว่า เบื้องต้นใช้งบประมาณก่อสร้างโรงเรือนราว 4 ล้านบาท จำนวน 4 โรงเรือน 1 โรงเรือนจะมีพื้นที่ประมาณ 5×9 เมตร พื้นที่สร้างโรงเรือนคือบริเวณสถานที่ด้านหน้า ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์ศึกษาอุดรธานี ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี การก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 2 เดือน พร้อมกับจัดหาพันธุ์มาปลูก รวมเวลาทั้งหมดใช้เวลาร่วม 4 เดือนก็ได้ผลผลิต
“เราทำตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งกฎหมายให้อำนาจในการวิจัยและต่อยอดทางการแพทย์ได้ เราไม่ได้ขายต้นกัญชา แต่จะผลิตเป็นยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อผลประประโยชน์ของพี่น้องประชาชน” นายวิเชียรกล่าว
ด้าน รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า เรากำลังร่วมกันทำสิ่งที่เป็นทรัพย์สินของคนไทยที่มีค่าทางทรัพยากรธรรมชาติ คือกัญชา มาทำให้ถูกต้องในทางการแพทย์ ถูกกฎหมาย เป็นความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งประชาชนไม่สามารถปลูกได้ แต่เปิดช่องทางให้ศึกษาวิจัย และประชาชนก็สามารถร่วมในนามวิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัยฯ เราพร้อมทุกด้าน
“ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจะรับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการปลูก การครอบครอง การดูแล อยู่ภายใต้กฎหมาย ป.ป.ส. ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรับผิดชอบในด้านสถานที่ในการปฏิบัติงาน” รศ.ดร.ฤาเดชกล่าว
สำหรับข้อตกความร่วมมือดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันลงนาม หากจะขยายหรือยุติความร่วมมือหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายทำเป็นลายลักษณ์อักษร และความร่วมมือนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จล่วงหน้า 180 วันก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลง
นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ อบรม ศึกษา วิจัยและพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แก่ผู้ประกอบการชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี