xs
xsm
sm
md
lg

3 หน่วยงานใหญ่ร่วมเปิดตัวโครงการ ‘EEC Automation Park’ ที่ ม.บูรพา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - มิตซูบิชิ อิเล็คทริคคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ร่วมคณะทำงาน EEC HDC และมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดตัวโครงการ ‘EEC Automation Park’ รับการผลิตบุคลากรป้อนนวัตกรรมหุ่นยนต์ 

วันนี้ (18 ก.ย.) มิตซูบิชิ อิเล็คทริคคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับคณะทำงาน EEC HDC และมหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดแถลงข่าวการเปิดตัวโครงการ ‘EEC Automation Park’ ศูนย์พัฒนาบุคลากร หุ่นยนต์&ระบบอัตโนมัติ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม เป้าหมายต้นแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคแฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับโครงการจัดตั้ง EEC Automation Park ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและได้มีการกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลโดยมีรูปแบบการบริหารงาน และหลากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเรียนรู้อุตสาหกรรม 4.0 ผ่าน Smart Factory ไปจนถึงการบ่มเพาะทักษะเฉพาะทางด้านออโตเมชัน ซึ่งจะเกิดขึ้นใน Learning center ณ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

และได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคแฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยความเห็นชอบจากบริษัท Mitsubishi Electric Corporation ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยบูรพา




ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยบูรพา ถือเป็นมหาวิทยาลัยใน EEC และเป็นมหาวิทยาลัยหลักของภาคตะวันออกที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ไปได้ไกล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีที่เกิด

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการบุคลากรมากถึง 37,526 อัตราในหลายกิจกรรม

โดยการเกิดขึ้นของโครงการ Automation Park จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนากำลังคน นวัตกรรม การเรียนรู้ในเขตพื้นที่ EEC ใน 3 ด้านหลัก คือ 1.ศูนย์จัดการเรียนรู้ Automation Park หรือ Learning Center 2.ศูนย์ฝึกอบรม Automation Park หรือ Training Center และ 3.Collaboration หรือ ความร่วมมือ


ด้าน นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคแฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร ทั้งทางด้าน upskillsและ reskills จึงยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านออโตเมชัน และหุ่นยนต์ อีกทั้งมีความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์

รวมไปถึงเครือข่ายพันธมิตรด้านการศึกษากว่า 20 สถาบันที่จะช่วยผนึกกำลังในการสร้างบุคลากรได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น