xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือ ร่วม ศรชล.จัดฝึกภาคสนาม-ภาคทะเล เน้นการฝึกสกัดกั้นการลักลอบขนส่งสารกัมมันตภาพรังสี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือ ร่วม ศรชล. จัดฝึกภาคสนาม-ภาคทะเล เน้นการฝึกสกัดกั้นการลักลอบขนส่งสารกัมมันตภาพรังสี การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการขจัดคราบน้ำมันในทะเล ประจำปี 63

วันนี้ (25 ส.ค.) พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) เดินทางโดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ มายังเรือหลวงอ่างทอง ที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อทำการตรวจเยี่ยมและชมการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) ประจำปี 2563 โดยมีนายผล ดำธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีให้การต้อนรับ พร้อมด้วยตัวแทนจากกองทัพเรือ ,ตำรวจน้ำ ,กรมเจ้าท่า ,กรมประมง ,กรมศุลกากร ,กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ,สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ,ท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ จากนั้นมีการรับฟังการบรรยายสรุป ภาพรวมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2563 ณ ห้องโถงนายทหารฯภายในเรือหลวงอ่างทอง

เพื่อทดสอบแนวความคิดในการปฏิบัติการและการบัญชาการเหตุการณ์,การอำนวยการตามสถานการณ์ของ ศรชล. และเพื่อทดสอบขีดความสามารถของกำลังในการปฏิบัติการร่วม โดยมีกำหนดการฝึกภาคสนาม-ภาคทะเล (FTX) ระหว่างวันที่ 24-27 ส.ค.63 บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และมีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) เป็นหน่วยรับผิดชอบจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ขอรับการสนับสนุนเรือและอากาศยานจากกองทัพเรือ เรือจากกรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และตำรวจน้ำ
พล.ร.อ.สิทธิพร กล่าวว่า สำหรับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มีอำนาจหน้าที่ในการบูรณาการขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตาม พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 โดยมีโครงสร้างและภารกิจที่ได้กำหนดไว้ตามระดับความรุนแรงของภัยความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) ที่เกิดขึ้น ในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่านภารกิจและหน้าที่จากศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกำลังพล ศรชล. ในการอำนวยการและประสานงานสำหรับจัดการกับภัยคุกคามและปัญหาความมั่นคงทางทะเล รวมทั้ง สร้างกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะทำให้เกิดการบูรณาการขีดความสามารถร่วมระหว่างหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อให้ ศรชล. มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการและตอบสนองได้ทันต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางทะเลที่จะเกิดขึ้น
พล.ร.อ.สิทธิพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการฝึกในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.การฝึกสกัดกั้นการลักลอบขนส่งสารกัมมันตภาพรังสี (WMD) 2. การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (SAR) และ 3.การขจัดคราบน้ำมันในทะเล (OIL SPILL) ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการกำหนดไว้เป็นไปอย่างเรียบร้อย












กำลังโหลดความคิดเห็น