xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ฟื้นสะพานดำ 104 ปี สะพานประวัติศาสตร์ลำปาง ปั้นแลนด์มาร์กใหม่ท่องเที่ยวรถไฟไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - ผู้ว่าการ รฟท.เปิดปฐมฤกษ์บูรณะสะพานดำ สะพานรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุ 104 ปี หวังคืนชีวิตชีวาให้สะพานประวัติศาสตร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของลำปาง และประเทศไทย


นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยผู้บริหาร รฟท. ได้นั่งรถไฟจากกรุงเทพมหานครมาถึงสถานีรถไฟนครลำปาง สายวันนี้ (15 ส.ค.) เพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ปฏิบัติงาน และเปิดโครงการบูรณะซ่อมแซมสะพานเหล็กเก่าที่ชื่อว่า “สะพานดำ” อายุ 104 ปี ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ คือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลับมาใช้งานได้และเป็นแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง

โดยคณะผู้บริหารได้สักการะเจ้าที่ และร่วมกันเปิดการซ่อมแซม ด้วยการเริ่มทาสีดำบนตัวสะพานเหล็ก เพื่อให้สะพานกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสะพานดำ และได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้งไว้บริเวณลานด้านข้างสะพาน


ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เนื่องจากตนเกิดที่ลำปาง สมัยเด็กๆ เคยเห็นความคึกคักของสะพานดำ เพราะจะปั่นจักรยานมาเล่นและจะเห็นผู้คนมาทำกิจกรรมบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก เวลาที่มีรถไฟวิ่งผ่านก็จะมีคนวิ่งออกมาดู ซึ่งเป็นภาพที่จำติดตาชัดเจน

และด้วยสะพานดำมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ และของชาวลำปาง ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงสร้างขึ้น เพื่อเชื่อมการขนส่งและคมนาคมจากลำปางไปเชียงใหม่ วันนี้ รฟท.ได้มีโอกาสกลับมาพัฒนาสะพานแห่งนี้ให้กลับมามีความสำคัญและสวยงามดังเดิม


“สะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้จะเป็นไฮไลต์และแลนด์มาร์กของลำปางและประเทศไทย คล้ายๆ สะพานข้ามแม่น้ำแควของจังหวัดกาญจนบุรี และจะเป็นตัวอย่างที่ รฟท.เข้าไปร่วมกับชุมชนพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้ ซึ่งจะทำต่อไปในหลายๆ โอกาส เพราะตามแนวเส้นทางรถไฟมีแหล่งประวัติศาสตร์มากมาย การท่องเที่ยวบนทางรถไฟจะเห็นเรื่องราวในอดีตมากมาย เช่น จากสะพานดำแห่งนี้ ขึ้นเหนือไปก็จะเจอถ้ำขุนตาน ซึ่งยาวที่สุดของประเทศไทย จากนั้นก็จะเจอสะพานทาชมพู (สะพานขาว) เข้าสู่เมืองหริภุญชัย และเข้าสู่เชียงใหม่ ที่จะพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกันไป”


สำหรับสะพานดำ หรือสะพานรถไฟจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ใกล้กาดเก๊าจาว ชุมชนรถไฟนครลำปาง เป็นสะพานเหล็กสีดำ ใช้เป็นรางวิ่งรถไฟ พาดผ่านระหว่างสถานีรถไฟนครลำปาง มุ่งสู่สถานีรถไฟบ่อแฮ้ว บริเวณด้านข้างเดิมนั้นเป็นทางเดินที่ทำด้วยไม้เพื่อให้คนเดินข้ามไปมาของสองฝั่งแม่น้ำ สร้างขึ้นในช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อเคลื่อนพลผ่านประเทศไทย และได้ตั้งกองบัญชาการที่ลำปาง เข้าทำการยึดอาคารสถานที่ในกิจการของทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่นๆ ทำให้คนเหล่านั้นได้ลี้ภัยออกไป


ขณะที่ประเทศไทยสมัยนั้นเป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเมืองด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างๆ หลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเมืองได้ย้ายไปอยู่นอกเมืองชั่วคราวเพื่อหลบภัยสงคราม บางร้านที่อยู่ในเมืองก็ต้องพรางอาคารด้วยยอดมะพร้าว หรือเอาสีดำมาทาตัวตึก สะพานก็ถูกทาสีดำเพื่ออำพรางไม่ให้โดนระเบิดเช่นกัน

ดังนั้น การทาสีดำของสะพานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นที่มาของสะพานดำ หรือสะพานรถไฟในปัจจุบัน ซึ่งตัวสะพานยังคงเหลือร่องรอยของรูกระสุนที่ถูกยิงในช่วงสงครามให้เห็นด้วย ซึ่งการซ่อมทาสีจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนหลังจากนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น