xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! ไส้เดือนยักษ์ภูหินร่องกล้ายังต้องเผ่น พายุซินลากูทำฝนตกหนักน้ำท่วมรัง-อุณหภูมิลดวูบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - พายุซินลากูทำฝนตกหนักบนภูหินร่องกล้าทั้งวันทั้งคืน..แม้แต่ไส้เดือนยักษ์ยังต้องหนีตายจากรังหาที่อยู่ใหม่


อิทธิพลพายุโซนร้อนซินลากูทำให้เกิดฝนตกชุกหลายพื้นที่ รวมถึงบริเวณเทือกเขาสูงเขตโครงการพัฒนาป่าตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นอกจากจะมีฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืนห้วง 2 วันที่ผานมา สภาพอากาศหนาวเย็นกลางดึก อุณหภูมิลดลงอยู่ในระดับ 11-12 องศา พร้อมมีหมอกหนา

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ฝูงไส้เดือนดินขนาดใหญ่ ความยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตร จำนวนหลายร้อยตัวพากันอพยพออกจากรัง หรือขุยไส้เดือน บริเวณหน้าผาชมวิว ทั้งผาพบรัก ผาสลัดรัก ผารักยืนยง และผาคู่รัก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจำนวนมากนั้นทำให้น้ำท่วมขังรังจนไส้เดือนต้องออกมาหาอากาศหายใจ และหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่ไม่มีน้ำขัง แต่ระหว่างกำลังอพยพเพื่อหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ไส้เดือนดินจำนวนมากต้องตายเนื่องจากอากาศเย็นภายนอกรัง


นายศุภกุล จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า กล่าวว่า ไส้เดือนดินเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติบนโครงการฯ ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง-ฆ่าหญ้า หรือสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมโครงการฯ มักจะเห็นขุย หรือรังของไส้เดือนดิน ทั้งเก่าและใหม่ปะปนกันไปอยู่ทั่วบริเวณ แต่ละขุยมีความสูงจากพื้นดินแตกต่างกันไป ตั้งแต่1-4 นิ้ว

“ดินขุยไส้เดือ น หรือมูลของไส้เดือน” เป็นดินที่ไส้เดือนขึ้นมาขับถ่ายกองไว้รอบๆรู ตั้งเป็นแท่งทรงกลม ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าดินขุยไส้เดือนอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต รวมทั้งสารชีวเคมีที่มีประสิทธิภาพช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี


นอกจากนี้ยังมีสารฮอร์โมนสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตของพืชในมูลไส้เดือนดินเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้มูลไส้เดือนดินมีสารต่างๆ ที่เป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เช่น กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์พืช ควบคุมความยาวของเซลล์ หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นสารต้านการแก่ตัวของพืชไม่ให้เน่าเปื่อยเร็ว และมูลไส้เดือนดินยังมีฤทธิ์ในการขับไล่แมลงได้อีกด้วย


ทั้งนี้ ปกติแล้วธรรมชาติของไส้เดือนนั้นจะมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เคลื่อนที่ออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมไปสู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ไส้เดือนอพยพมาก เนื่องจากไส้เดือนเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่มีตา หู จมูก และฟัน จะใช้ต่อมรับรู้ใต้ผิวหนังในการดูด หายใจ ฟังเสียงและสัมผัสทั้งหมด จึงต้องการแหล่งที่อยู่ที่มีความชื้นและไม่แฉะ แต่เมื่ออากาศหนาว อย่างบนดอยก็จะอพยพลงมาบนพื้นราบ

หากถูกน้ำท่วมขังจะอพยพขึ้นมาบนพื้นดินเพื่อหาถิ่นที่อยู่ใหม่ เหมือนในช่วงนี้ที่เกิดฝนตกชุก สภาพอากาศชื้น เฉอะแฉะ มีน้ำขัง และไหลลงไปในรัง หรือขุยของไส้เดือน ทำให้ไส้เดือนต้องพยายามออกมาภายนอกเพื่อหนีน้ำ แต่ไส้เดือนดินส่วนใหญ่ก็ต้องตายลงก่อนที่จะได้ที่อยู่ใหม่เนื่องจากทนสภาพอากาศความหนาวเย็นภายนอกรังหรือขุยไม่ไหว แต่ก็เป็นวัฏจักรของชีวิตไส้เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น