สกลนคร - “นิพนธ์” ลุยกำชับแผนรับมืออุทกภัยที่ จ.สกลนคร เน้นย้ำบูรณาการร่วมหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง หวังรักษาชีวิตผู้ประสบภัยไว้เป็นจุดสำคัญ ระบุถอดบทเรียนพายุโพดุล เป็นกรณีศึกษา
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่พิพิธภัณฑ์ภูพาน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ลงพื้นที่มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยแบบบูรณาการ โดยมีนายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร
ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร นครพนม หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ จิตอาสา อปพร. ร่วมในกิจกรรมและรับมอบนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโลกและในประเทศ เห็นได้ว่าประชาชนต่างมีความเสี่ยงที่จะประสบสาธารณภัยทุกรูปแบบ ทั้งภัยจากธรรมชาติ ภัยจากการคมนาคม ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศและการใช้ทรัพยากรของประเทศในการเยียวยาฟื้นฟูในระยะยาว ดังนั้น กลไกการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนต้องมีการปรับตัวให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์โดยการใช้ชีวิตแบบความปกติใหม่ (New Normal)
จากปัญหาอุกทกภัยที่ผ่านมา เราได้มีบทเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2560 เกิดอุทกภัยในเขตเทศบาลนครสกลนคร และพื้นที่อำเภอรอบนอก และปีที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” และ “คาจิกิ” ส่งผลต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และจังหวัดร้อยเอ็ด การจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารภัย เขต 13 อุบลราชธานี
เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุกทกภัยช่วงฤดูฝน ปี 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมทั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือแบบบูรณาการ และฝึกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงที
“ขอให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทั้งการแจ้งเตือนจะต้องมีการแจ้งเตือนภัยอย่างครบวงจรไปถึงพี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา เสริมสร้างความเข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันแก่ชุมชน สังคม การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือและบุคลากร
การวางแผนบูรณาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมจะบริหารจัดการสาธารณภัย พี่น้องประชาชนจะมีความมั่นใจในความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากการแสดงความพร้อมของทุกภาคส่วน” นายนิพนธ์ กล่าว