เชียงใหม่ - ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่นำทีมผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินความเสียหายการบูรณะซ่อมแซมวิหารเก่าวัดหมื่นล้านที่ทำผิดวิธี พบบานประตูลายรดน้ำโบราณยังพอมีหวังฟื้นฟู ส่วนลายฉลุทองติดผนังหมดสิทธิ์ ขณะที่เจ้าอาวาสรับผิดขอโทษ
ความคืบหน้ากรณีการบูรณะวิหารวัดหมื่นล้านซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏว่าการซ่อมแซมประตูวิหารที่เป็นไม้เก่าและมีภาพลายรดน้ำงดงามอายุกว่า 100 ปี ทางวัดกลับทำโดยการทาสีทับและบอกว่าลอกลายไว้แล้วเตรียมเขียนใหม่บนประตูบานเดิม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการลอกลายฉลุทองประดับผนังหลังองค์พระประธานอายุเก่าแก่ออกไปด้วย ซึ่งการบูรณะดังกล่าวสร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากให้แก่ชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไป
วันนี้ (29 ก.ค. 63) นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมด้วยนายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่, นายเสน่ห์ มหาผล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์กรมศิลปากร, นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสอบการบูรณะวิหารของวัด ประเมินความเสียหาย และแนวทางการแก้ไข
เบื้องต้นพบว่าบานประตูวิหารมีการทาสีทับสามชั้น ทางผู้เชี่ยวชาญจึงใช้น้ำยาเคมีเฉพาะในการทำงานอนุรักษ์ของโบราณ ทำการทดสอบลอกสีที่ทาทับอยู่ประมาณ 1 ตารางนิ้วอย่างประณีตป้องกันความเสียหาย ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงสามารถลอกสีที่ทาทับได้และพบลายรดน้ำบนบานประตูยังอยู่ ซึ่งจะวางแผนฟื้นฟูสภาพในลำดับต่อไป ส่วนลายฉลุทองประดับฝาผนังหลังองค์พระประธานนั้น พบว่ามีการสกัดออกไปจนเสียหายทั้งหมดแล้วไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้
นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า นำคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรเข้าตรวจสอบการบูรณะวิหารดังกล่าว เพื่อประเมินและวางแนวทางการฟื้นฟูสภาพให้กลับมาใกล้เคียงของเดิมก่อนที่จะมีปัญหา ซึ่งเบื้องต้นพบว่าในส่วนของประตูยังพอสามารถทำการฟื้นฟูสภาพได้ เพียงแต่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลาในการทำงานพอสมควร พร้อมแนะนำทางวัดว่าควรถอดเก็บประตูบ้านเก่าไว้เพื่อการอนุรักษ์แล้วทำประตูบานใหม่ โดยเขียนลวดลายเดิมตามที่ลอกแบบไว้นำไปใส่แทน
ขณะที่จากการสอบถามทางเจ้าอาวาสได้แสดงความรู้สึกเสียใจ และยอมรับว่าทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งหวังให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์ของเก่าสำหรับวัดอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนวิหารของวัดหมื่นล้านนั้นไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อย่างไรก็ตามมีกฎหมายเกี่ยวกับโบราณสถานโบราณวัตถุ คุ้มครองอยู่เช่นกัน
"กรณีนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ทำหน้าที่เพียงสำรวจตรวจสอบและประเมินความเสียหาย จะทำรายงานส่งให้กรมศิลปากรพิจารณา ส่วนจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อทางวัดหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร"
ขณะที่นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เปิดเผยว่า บานประตูวิหารลายรดน้ำตามจารึกสร้างขึ้นปี พ.ศ. 2460 อายุกว่าร้อยปีแล้ว เบื้องต้นสามารถใช้น้ำยาลอกสีที่ทาทับออกได้ แต่ต้องทำอย่างประณีตเพื่อไม่ให้ลวดลายบนประตูเสียหาย ซึ่งจะมีการวางแผนงานฟื้นฟูสภาพให้กลับมาใกล้เคียงก่อนที่จะมีการทาสีทับมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าจะต้องใช้เวลานานพอสมควร
ส่วนลายฉลุทองประดับผนังหลังองค์พระประธานนั้น ตรวจสอบจากภาพถ่ายเดิมพบว่าเป็นลายเทพพนม ไม่ใช่ของเก่าอายุหลายร้อยปี แต่น่าจะสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2400 ปลายๆ ไม่เก่าเท่าประตูวิหาร ซึ่งในส่วนลายฉลุนั้นพบว่าทางวัดได้ทำการสกัดถอดออกจากผนังและเสียหายทั้งหมด จึงไม่สามารถซ่อมแซมหรือฟื้นคืนสภาพได้แล้ว ซึ่งจากกรณีนี้หวังว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างให้กับวัดต่างๆ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูของเก่าว่าควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนดำเนินการใดๆ
ด้านพระอธิการสงกรานต์ วิรชญเมธี เจ้าอาวาสวัดหมื่นล้าน บอกว่า ยอมรับผิดกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่าทางวัดทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยเจตนาดีที่ต้องการจะบูรณะซ่อมแซมวิหารที่มีสภาพเก่าทรุดโทรมอย่างหนักและผุพังจากการถูกปลวกกิน ซึ่งเมื่อมีศรัทธาญาติโยมแสดงเจตจำนงที่จะออกทุนทรัพย์ให้จึงได้ดำเนินการไป
เมื่อทราบภายหลังว่าส่งผลกระทบต่อของเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ ทำให้รู้สึกเสียใจอย่างมากและอยากขอโทษชาวเชียงใหม่ และคนไทยทั้งประเทศสำหรับเรื่องนี้ ที่จะเป็นบทเรียนให้กับอาตมาและทางวัด รวมทั้งวัดอื่นๆ ด้วย ส่วนการฟื้นฟูสภาพและซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คงต้องขอความอนุเคราะห์ให้ทางกรมศิลปากรช่วยดูแล และดำเนินการให้