ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ม.ขอนแก่น เจ้าภาพประชุมนักคณิตศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 2,563 คน 98 ประเทศผ่านระบบออนไลน์ใหญ่ที่สุด ชี้การสอนคณิตศาสตร์ยุคใหม่ต้องเลิกสอนแบบท่องจำ เน้นพัฒนาทักษะการคิด รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกอย่างรุนแรง ตลาดแรงงานจะถูกยึดครองโดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งมนุษย์ต้องอยู่ร่วมให้ได้
ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2563 เวลา 18.00-21.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับ the international Group for the Psychology of Mathematics Education สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ สมาคมคณิตศาสตร์ (ประเทศไทย) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดจัดประชุมระดับนานาชาติด้านคณิตศาสตร์ศึกษาแบบออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด The 2020 Virtual Meeting of the international Group for the Psychology of Mathematics Education โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,563 คน จาก 98 ประเทศ
พิธีเปิดการประชุมจัดขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน มข. โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.เป็นประธานเปิด ร่วมด้วย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ, ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ, ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ รวมถึงผู้บริหาร คณาจารย์ และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วโลก โดยจัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting ถ่ายทอดผ่านทางยูทูป
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. เปิดเผยถึงการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมของนักคณิตศาสตร์ศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจในจิตวิทยาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งมีสมาชิกว่า 100 ประเทศ มีการจัดประชุมนานาชาติมาแล้ว 43 ครั้ง และในครั้งที่ 44 มีกำหนดจะจัดที่ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยสมาชิกในกลุ่มจากการประชุมในครั้งที่ 43 ที่ประเทศสวีเดน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดได้
ทางกลุ่มคณิตศาสตร์ศึกษาทั่วโลกจึงเห็นว่าในปีนี้ควรมีการจัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ขึ้นมาก่อน และเลื่อนการจัดประชุม The Annual 44th Meeting of the International Group for the Psychology of Mathematics Education (PME44) ภายใต้หัวข้อ “Mathematics Education in the 4th Industrial Revolution : Thinking Skills for the Future” ออกไปก่อนจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
“การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อสำคัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะการคิดสำหรับอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้า แต่ในครั้งนี้เป็นการประชุมรูปแบบ Virtual Meeting ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว 2,563 คน จาก 96 ประเทศ มีนักคณิตศาสตร์ศึกษาจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมทั้ง 2 วัน ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพเป็นที่สนใจของนักคณิตศาสตร์จากทั่วโลกมากขึ้น” รศ.นพ.ชาญชัยกล่าว
ด้าน รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มข.กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวของผู้สอนด้านคณิตศาสตร์ครั้งใหญ่ของโลก ประเด็นสำคัญที่จะต้องถกหารือกันคือการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเน้นพัฒนาทักษะการคิดเพื่ออนาคต หัวใจสำคัญจึงไม่ใช่การเรียนการสอนแบบท่องจำ แต่เป็นการเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะการคิดเป็นหลัก
เนื่องจากในอนาคตมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโลก และจะมีการนำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์บรรจุเข้าไปในหลักสูตรอีกด้วย เป็นการเรียนรู้เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้กับระบบ AI
ดังนั้นมีความจำเป็นต้องเร่งเตรียมเยาวชนที่จะอยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรุนแรง เราไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการคิดแบบเดิมในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปดังเช่นทุกวันนี้
“การคิดเชิงคำนวณแบบที่คอมพิวเตอร์ทำงานจึงมีความสำคัญอย่างมาก เราต้องเรียนรู้ว่าคอมพิวเตอร์ก็เรียนรู้ได้ เราต้องเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะในอนาคตอันใกล้ตลาดแรงงานจำนวนมากจะถูกยึดครองโดยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ” รศ.ดร.ไมตรีกล่าวในที่สุด