xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! “เขื่อนวังร่มเกล้า” แห้งขอดกลางฤดูฝน น้ำหน้าเขื่อนเป็นศูนย์เหลือแต่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - ภัยแล้งยังแรงกลางฤดูฝน..เขื่อนวังร่มเกล้า หนึ่งในแหล่งน้ำหลักอุทัยธานี แห้งขอด ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนเป็นศูนย์ กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ชั่วคราว


แม้ขณะนี้จะอยู่ในห้วงฤดูฝน และหลายพื้นที่ของอุทัยธานีจะมีฝนตกต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่มากพอที่จะทำให้แหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสระกักเก็บน้ำของเกษตรกร ตลอดจนคลองส่งน้ำสาธารณะ รวมไปถึงเขื่อน-อ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัด ที่แห้งขอดมายาวนานมีน้ำเข้ามาเติมเต็มได้เลย

โดยเฉพาะเขื่อนวังร่มเกล้า ต.ทุ่งใหญ่ อ.เมืองอุทัยธานี หนึ่งในแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัด ขณะนี้ (19 ก.ค.) สภาพหน้าเขื่อนยังคงแห้งขอด ไม่มีน้ำเข้า-ออก กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านแทนชั่วคราว


จากการรายงานสถานการณ์น้ำของโครงการชลประทานอุทัยธานีพบว่า เขื่อนวังร่มเกล้ามีระดับน้ำเหนือเขื่อน และท้ายเขื่อนเท่ากับน้ำแห้ง การระบายน้ำออกเป็นศูนย์ ปริมาณน้ำแก้มลิง 18 ก.ค. เหลืออยู่เพียง 1.70 ล้าน ลบ.ม. (ลดลงจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 63 ที่มีน้ำเหลืออยู่ 2.50 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนปริมาณน้ำเหนือเขื่อน 0.000 ล้าน ลบ.ม. หรือเรียกว่าไม่มีปริมาณน้ำเลย

นายฐกร กาญจิรเดช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี กล่าวว่า ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 มาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้แหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่อุทัยธานีไม่มีน้ำไหลเข้ามาเติมเต็ม ทำให้เขื่อนวังร่มเกล้า หนึ่งในแหล่งน้ำหลักมีสภาพอย่างที่เห็น เพราะได้รับผลพวงจากภัยแล้งยาวนานถึง 2 ปี ปัจจุบันไม่มีน้ำไหลเข้าและระบายออก จุดช่วงหน้าเขื่อนแห้งขอดจนทำให้กลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ชั่วคราวได้


แม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมา แต่พื้นที่ส่งน้ำที่ไหลลงมาเติมเต็มให้เขื่อนทั้งจุดส่งน้ำเหนือเขื่อนใน อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ และจุดที่มีการขอก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็ไม่มีฝนมามากพอ จึงทำให้เขื่อนวังร่มเกล้าไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนได้

อย่างไรก็ตาม หากปีนี้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก็อาจจะทำให้มีปริมาณน้ำกักเก็บไว้ใช้ได้บ้างพอสมควร แต่ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูกาลทำนาอีกครั้ง พื้นที่การเกษตรรอบเขตชลประทานก็เริ่มมีเกษตรกรทำการไถหว่านและลงมือปลูกข้าวกันอย่างต่อเนื่อง ทางโครงการชลประทานจึงต้องประชาสัมพันธ์แจ้งให้เกษตรกรได้ทราบว่า ปัจจุบันเขื่อนวังร่มเกล้ายังไม่มีน้ำที่จะส่งช่วยพื้นที่การเกษตรได้ จึงทำให้การทำนาของเกษตรกรในครั้งนี้ เป็นการทำนารอฝนเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างเสี่ยง






กำลังโหลดความคิดเห็น