xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” เปิดเวทีรับฟังผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังผลิตกว่า 830 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กฟผ. พร้อมบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังผลิตกว่า 830 เมกะวัตต์ นำความคิดเห็นทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)


วันนี้ (12 ก.ค.) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภออุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายปานทอง สระคูพันธ์ รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 จัดทำร่างรายงาน และมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประชาชนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนจะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่ต้องปลดออกจากระบบ ซึ่งโรงไฟฟ้าใหม่จะยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพองเดิมและใช้ เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าของเดิม

ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่าโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง สูงสุด 830 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพองปัจจุบัน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้า ก่อสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1-2 ในปัจจุบัน ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบในปี 2568 เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน

จำเป็นต้องดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขาดหายไป และรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) อีกทั้งโครงการฯ จะช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้แก่ท้องถิ่น ผ่านภาษีและรายได้บำรุงท้องถิ่น รวมถึงจ้างงานคนท้องถิ่น ตลอดจนได้รับงบประมาณพัฒนาชุมชนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอีกด้วย




ด้าน น.ส.ดวงกมล พรหมสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับรายละเอียดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ อ.น้ำพอง 4 ตำบล ได้แก่ ต.ม่วงหวาน ต.กุดน้ำใส ต.สะอาด ต.น้ำพอง และชาว อ.อุบลรัตน์ 2 ตำบล ได้แก่ ต.โคกสูง ต.บ้านดง

รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมครบถ้วน เพิ่มเติมจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 เมื่อการจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 แล้วเสร็จ บริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งหมดมาพิจารณาจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของชุมชนมากที่สุด ก่อนนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป


ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างรายงานฉบับนี้ได้จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ที่คุณจีรภัทร ประเสริฐสุวรรณ มือถือ 09-1435-9154 โทรศัพท์ 0-2934-3233-47 ต่อ 513 โทรสาร 0-2934-3248 หรือบริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เลขที่ 39 ซ.ลาดพร้าว 124 ถ.ลาดพร้าว แขวงพลับพลาชัย เขตวังทองหลาง กทม. 10310 หรือเว็บไซต์ www.cot.co.th.


กำลังโหลดความคิดเห็น