xs
xsm
sm
md
lg

ฝนทิ้งช่วง! ชาวบ้านบุกเขื่อนลำปาวร้องขอส่งน้ำช่วยต้นข้าวแห้งขาดน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านในตำบลลำคลอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ร้องขอให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาวส่งน้ำเข้าคลองชลประทาน เพื่อช่วยต้นข้าวนาปีและบ่อกุ้งที่ขาดแคลนน้ำ หลังกำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 1 สัปดาห์


วันนี้ (9 ก.ค.) ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี และกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน ต.ลำคลอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กว่า 50 คน รวมตัวกันเข้าเรียกร้องและขอให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว เร่งส่งน้ำเข้าสู่คลองชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี และช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ หลังจากกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 1 สัปดาห์

ส่งผลให้ต้นข้าวที่เพิ่งหว่านกำลังแห้งเหี่ยวและยืนต้นตาย และน้ำไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนน้ำในบ่อกุ้ง โดยมีนายฤาชัย จำปานิล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้รับเรื่อง


นางเครือวัลย์ หันจังสิต อายุ 51 ปี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน ต.ลำคลอง หลายร้อยคนกำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวที่เพิ่งหว่านไปใหม่ๆ ขาดน้ำ และเกรงว่าจะแห้งเหี่ยวและยืนต้นตาย อีกทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก็มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อกุ้ง

ดังนั้นจึงได้รวมตัวกันมาขอให้ทางเขื่อนลำปาวเร่งส่งน้ำเข้าคลองชลประทานสายนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจนกว่าจะมีฝนตกลงมา


ด้านนายฤาชัย จำปานิล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าฝนนี้ ทางเขื่อนลำปาวได้เริ่มส่งน้ำเข้าคลองชลประทานไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเสริมน้ำฝนตามฤดูกาล เฉลี่ยวันที่ 2.3 ล้าน ลบ.ม. แต่จะมีคลองบางสายและบางพื้นที่ ซึ่งยังไม่สามารถส่งน้ำเข้าไปได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงระหว่างการปรับปรุงและทำความสะอาดคลองส่งน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ลำคลอง

คาดว่าเจ้าหน้าที่และเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความสะอาดคลองน้ำแล้วเสร็จและจะเริ่มส่งน้ำได้ในวันนี้ ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำจะไหลไปถึงกลุ่มเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภายใน 1-2 วันนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ปัจจุบันมีปริมาณอยู่ที่ 649 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยืนยันว่าเพียงพอในการอุปโภค บริโภค และช่วยเหลือเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น